เอนไซม์ (enzyme) เป็นโปรตีนที่สามารถเร่งปฏิกิริยาเคมีซึ่งถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด การใช้งานเอนไซม์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความหลากหลาย ความจำเพาะต่อสารตั้งต้นและความสามารถในการเร่งปฏิกิริยา เอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ขนมปัง เนยแข็ง น้ำผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ในอาหารปศุสัตว์ถูกจำกัดจนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1980 อุตสาหกรรมสัตว์ปีกเป็นอุตสาหกรรมแรกที่สนใจนำเอนไซม์มาใช้งานและในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการนำไปใช้ในอาหารสัตว์จนมีการเติบโตมากขึ้นโดยมีมูลค่าการค้าประมาณ 1,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 (Velázquez-De Lucio, et al., 2021)
เอนไซม์ที่ใช้เติมแต่งในอาหารสัตว์ถือเป็นสารเติมแต่งที่ช่วยปรับปรุงความสม่ำเสมอและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ เพิ่มการย่อยได้ พัฒนาการของสัตว์และลดผลกระทบสารต้านโภชนะ (antinutrients) รักษาสุขภาพของลำไส้ นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคในกระบวนการย่อยอาหารได้อีกด้วย การใช้เอนไซม์อาจใช้เตรียมแยกหรือเตรียมแบบผสม (Multienzyme) สำหรับการเจริญทุกระยะของสัตว์เคี้ยวเอื้องและที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Velázquez-De Lucio, et al., 2021)
หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์ (Robinson, 2015)
เอนไซม์ทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้น (Substrate) โดยทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้นที่บริเวณก่อกัมมันต์ (active site) ที่มีรูปร่างคล้ายสารตั้งต้นทำให้ทำปฏิกิริยากันได้ ส่งผลให้เอนไซม์แต่ละชนิดมีความจำเพาะกับสารตั้งต้นแต่ละตัว
• ทฤษฎีแม่กุญแจและลูกกุญแจ (Lock and key Theory) เสนอโดย Emil Fischer คือ เมื่อเอนไซม์รวมตัวกับสารตั้งต้นซึ่งอาจจับกันด้วยพันธะไฮโดรเจน หรือ พันธะไอออนิก หรือ พันธะโคเวเลนท์บริเวณก่อกัมมันต์กลายเป็นเอนไซม์ซับสเตรตเชิงซ้อน (enzyme substrate complex) ภายหลังจากทำปฏิกิริยาให้ผลิตภัณฑ์ (product) ออกมาและเอนไซม์เชิงซ้อนแยกออกมาได้เอนไซม์อิสระกลับคืนมา สมการปฏิกิริยาของเอนไซม์และสารตั้งต้นจะเป็นสมการที่ย้อนกลับ
• ทฤษฎีเหนี่ยวนำให้เหมาะสม (Induced-fit Theory) เสนอโดย Koshland คือ เมื่อสารตั้งต้นจับกับเอนไซม์ที่บริเวณเร่งของเอนไซม์เหนี่ยวนำให้เอนไซม์เปลี่ยนรูปให้จับกับสารตั้งต้นและเกิดปฏิกิริยาได้ดีขึ้น สารที่ไม่ใช่สารตั้งต้นแต่มีรูปร่างคล้ายสามารถเข้าจับบริเวณเร่งของเอนไซม์ได้แต่ไม่สามารถชักนำให้อ็นไซม์เปลี่ยนโครงรูปให้เหมาะสมได้ ทำให้ไม่เกิดปฏิกิริยาและไม่ได้ผลผลิตออกมา
การออกฤทธิ์ของเอนไซม์แต่ละตัวมีความแตกต่างกันและใช้ร่วมกันได้ การใช้เอนไซม์คู่กับสูตรอาหารควรพิจารณาความสมเหตุสมผลและดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด การได้มาซึ่งสารอาหารมีผลมาจากการย่อยได้ของเอนไซม์ ซึ่งมีสารตั้งต้นเป็นตัวกำหนดในการทำงานของเอนไซม์ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้การเร่งกิจกรรมของเอนไซม์มีอิทธิพลมาจาก อุณหภูมิ ค่า pH ความจำเพาะกับสารตั้งต้นและอื่นๆ ดังนั้นการใช้เอนไซม์สำหรับเติมแต่งในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ควรสามารถทนความร้อน เสถียรและคงความสามารถของเอนไซม์ไว้ได้เมื่อผ่านเข้าระบบย่อยอาหารของสัตว์
การจัดกลุ่มเอนไซม์ในเชิงพาณิชย์โดยทั่วไปจัดตามประเภทโภชนะของสารตั้งต้นที่เอนไซม์ทำหน้าที่ดังตารางที่ 1 ได้แก่ กลุ่มที่มุ่งเน้นไปที่คาร์โบไฮเดรต (กากใยและแป้ง) โปรตีนและไฟเตต (Velázquez-De Lucio, et al., 2021)
เอนไซม์ | สารตั้งต้น | การทำงาน | ตัวอย่าง | อ้างอิง |
Carbohydrase | Carbohydrates (Fiber และ/หรือ Starch) | ช่วยปรับปรุงการย่อยอาหารส่วนที่เป็นพืชและช่วยเพิ่มพลังงานในไก่และสุกร | Xylanases และ β-glucanases (สลายผนังเซลล์ ใช้ในไก่)β-mannanases, Pectinases, α-galactosidases, α-amylase (ปรับปรุงการย่อยแป้ง ช่วยการเพิ่มน้ำหนักในไก่) |
Nortey et al., 2007 Yin et al., 2001 |
Proteases | Proteins | Proteases บางตัวสามารถเพิ่มไนโตรเจนใน ileal เพิ่มการย่อยและการเก็บในโตรเจนในทางเดินอาหารในไก่เนื้อ ลูกไก่และไก่กระทง เอนไซม์ proteases จากภายนอก (Exogenous proteases) อาจมาจากสัตว์ พืชหรือจุลชีพ ที่สามารถปรับปรุงการย่อยโปรตีนของวัตถุดิบ โดยการละลายและปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสของโปรตีน ลดตัวแปรที่เป็นสารต้านโภชนะ | Proteases ที่แยกจากจุลินทรีย์ เช่น Aspergillus niger และ Bacillus spp., Chymosin, pepsin A, Bromelain, papain, ficine, aminopeptidase, bacillolysin 1, dipeptidyl peptidase III, chymotrypsin, subtilisin, trypsin |
Ghazi et al., 2002 |
Phytase | Phytates | สลายพันธะของ Phytate เพื่อปลดปล่อยแร่ธาตุ ปรับปรุงประสิทธิภาพในโค ช่วยในการดูดซึมฟอสฟอรัส ลดโอกาสการปนเปื้อนของดินและน้ำจากสิ่งขับถ่าย เพิ่มการนำไปใช้ของกรดอะมิโน | กรดไฟเตสของฮิสทิดีน (pH 5.0) ส่วนใหญ่ใช้กับอาหารสัตว์ปีกหรือสุกร | Ojha et al., 2019 |
ผลจากการทำงานของเอนไซม์ (Velázquez-De Lucio, et al., 2021)
1. ทำปฏิกิริยาที่พันธะหรือส่วนประกอบที่ไม่สามารถย่อยได้ด้วยเอนไซม์ภายในร่างกาย (endogenous enzyme)
2. การสลายตัวแปรสารต้านโภชนะที่ลดความสามารถในการย่อยและทำให้ความหนืดของอาหารเพิ่มขึ้น
3. ทำให้ผนังเซลล์แตกและปลดปล่อยสารอาหารที่ติดอยู่ตามผนังเซลล์ออกมา
4. การย่อยสารอาหาร
5. ลดการหลั่งและการสูญเสียโปรตีนในลำไส้ทำให้ลดความต้องการลง
6. เพิ่มเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร ส่งผลให้การย่อยอาหารดีขึ้นโดยเฉพาะในสัตว์ที่มีอายุน้อยที่ระบบการย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์
เอกสารอ้างอิง :
Velázquez-De Lucio, B.S., Hernández-Dominguez, E.M., Villa-Garcia, M.; Diaz-Godinez, G., Mandujano-Gonzalez, V., Mendoza-Mendoza, B. and Álvarez-Cervantes, 2021, ‘Exogenous Enzymes as Zootechnical Additives in Animal Feed: A Review”. Catalysts, Vol. 11, pp. 1-21.
Robinson, P. K., 2015, “Enzymes: principles and biotechnological applications”, Essays in Biochemistry, Vol. 59, pp. 1-41.