Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

2024-01-22

เทคนิคเลี้ยงปลาในฤดูหนาว

          ในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว อากาศจะมีความแปรปรวนไม่แน่นอน และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิน้ำจะลดต่ำลง เป็นปัจจัยโน้มนำและกระตุ้นให้ปลาเกิดความเครียด เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นอุณหภูมิภายในร่างกายของปลาจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมภายนอก หากปลาไม่สามารถปรับร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน จะส่งผลทำให้ปลามีความเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงระบบการเผาผลาญพลังงานของปลาจะลดต่ำลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของปลา


วิธีแก้ไข ในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว 
          1. การควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม เช่น หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน อากาศร้อนสลับเย็น อากาศหนาว ควรงดหรือลดปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดของเสียจากการที่ปลาไม่กินอาหาร
          2. การทำให้น้ำในบ่อ หรือน้ำในกระชัง เคลื่อนไหว เนื่องจากฝนตกทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ถ้ามีการทำให้น้ำเคลื่อนไหวโดยการปั่นน้ำหรือตีน้ำ ก็จะทำให้เพิ่มออกซิเจนในน้ำได้
          3. การใส่เกลือแกง โดยสามารถแก้สภาพความเป็นกรดของน้ำได้ และช่วยทำให้ปลาหายเครียด
          4. การโรยปูนมาร์ล เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำหลังจากฝนตก (ฝนตกทำให้น้ำมีค่าเป็นกรด) สามารถทำให้ค่าน้ำกลับมาอยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาได้


การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ พีเอชของน้ำ
          1. พีเอชต่ำ (pH น้อยกว่า 6) อาจเกิดจากฝนตกทำให้น้ำเป็นมีค่าเป็นกรด หรือเกิดจากการมีก๊าซไข่เน่า หรือการปนเปื้อนของโลหะหนัก เป็นต้น
          กรณีเตรียมบ่อ ใช้ปูนมาร์ล หรือปูนโดโลไมท์ 150-200 กก./ไร่ หว่านทั่วพื้นบ่อที่ชื้น หรือมีน้ำชุ่ม
          กรณีควบคุมคุณภาพในระหว่างการเลี้ยงปลา ใช้ปูนมาร์ล 15-20 กก./ไร่ โดยผสมกับน้ำกวนให้เข้ากัน รอ 10-15 นาที แล้วสาดทั่วบ่อในเวลากลางคืน
          2. พีเอชสูงเกินไป (pH มากกว่า 9) เกิดจากพืชหรือแพลงค์ตอนพืช (น้ำเขียวมาก) ในบ่อมากเกินไป 
          แก้ไข ใช้ปูนยิปซั่ม หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต 15-20 กก./ไร่ โดยผสมกับน้ำ


 

อ่านต่อ





2024-01-22

เทคนิคเลี้ยงปลาในฤดูร้อน

          ถ้ากล่าวถึงฤดูร้อน เราจะนึกถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าว แสงแดดที่แผดเผา ไอร้อนจากผิวดินและผิวน้ำ เหงื่อที่ไหลริน ดังนั้นผู้คนในเมืองกรุงจึงเข้าไปเบียดเสียดในห้างสรรพสินค้า และทำกิจกรรมที่ไม่หนักมากนัก สัตว์น้ำจำพวกปลาก็เช่นกัน เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำที่มีพื้นที่จำกัด อุณหภูมิที่สูงขึ้น แออัดไปด้วยจำนวนปลา จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวบางอย่างทั้งในตัวปลา และการช่วยจากผู้เลี้ยงปลา เพื่อให้ปลาสามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างปกติ


          ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นต่างจากร่างกายมนุษย์ที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นโดยที่อุณหภูมิในร่างกายปลาจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิในแหล่งน้ำที่อาศัย ปลาที่เลี้ยงเชิงธุรกิจในประเทศไทยจะเป็นปลาอาศัยในเขตร้อน เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาเหล่านี้คือ 25-30 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนจะมีปัจจัยที่ทำให้ปลาต้องมีการปรับตัว ดังนี้

 

  • อุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจะมีกระบวนการเมทาบอลิซึม(metabolism) สูงขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าสภาวะที่เหมาะสม ปลาจะเกิดความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นในน้ำ ทำให้ปลาต้องปรับสมดุลทางสรีระร่างกายโดยการลดกระบวนการเมทาบอลิซึมในร่างกาย เช่น ว่ายน้ำน้อยลง กินอาหารน้อยลง จนท้ายที่สุดปลาอาจจะต้องหยุดทำกิจกรรมหรือเกิดการตาย นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงเกินกว่าสภาวะที่เหมาะสมมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลาวัยอ่อนที่ยังปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปลาที่โตเต็มวัยแล้ว 
  • ก๊าซออกซิเจน (O2) เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (dissolved oxygen, DO) จะลดลง มีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องการใช้ก๊าซออกซิเจนในการดำรงชีวิตในน้ำ เช่น ปลา แพลงก์ตอน สาหร่าย พืชน้ำ จุลินทรีย์ที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค เป็นต้น ทำให้ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำได้ลดลง ทำให้ปลาเกิดการขาดก๊าซออกซิเจน และตายได้
  • ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นปลาจะมีกระบวนการเมทาบอลิซึม ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น และกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายที่เกิดขึ้นจะมีการปล่อยของเสียในรูปของสารละลายแอมโมเนียมไอออน (NH4+) ลงในแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีผลทำให้คุณภาพน้ำลดลง และทำให้ปลาเกิดความเครียดจากก๊าซแอมโมเนีย นอกจากนี้แพลงก์ตอนพืช และพืชน้ำ จะนำแอมโมเนียที่อยู่ในน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำมีจำนวนมากขึ้น จะมีการใช้ก๊าซออกซิเจนร่วมกันกับปลาที่เลี้ยง ซึ่งจะมีผลทำให้ปลา แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และพืชน้ำเกิดการขาดออกซิเจนในช่วงเวลากลางคืน และอาจเกิดปลาตายในน้ำ เนื่องจากแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำช่วงเวลากลางคืน

          สิ่งที่ผู้เลี้ยงปลาควรระวังและปรับวิธีการเลี้ยงในฤดูร้อน มี 3 ข้อหลัก ดังนี้

  1. จำนวนปลาที่ปล่อยเลี้ยงลงในบ่อหรือกระชัง ควรลดจำนวนลง 10 – 20% ของปริมาณที่ปล่อยในช่วงปกติ เพื่อให้ปลาอยู่โดยไม่แออัด ลดการแย่งก๊าซออกซิเจนในน้ำ และปล่อยของเสียในน้ำน้อยลง 
  2. ปริมาณอาหารที่ให้ควรลดลง 20 - 50% ของปริมาณที่ให้ในแต่ละวัน ถ้าอุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 32 – 34 องศาเซลเซียส
  3. ออกซิเจนที่ละลายน้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวันที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และ/หรือเปิดเครื่องตีน้ำช่วงกลางคืนถ้าเลี้ยงปลาจำนวนหนาแน่นสูง
อ่านต่อ