Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

สภาวะกรดในกระเพาะรูเมน (Acidosis) ที่ไม่ควรมองข้าม

           เชื่อว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังประสบปัญหาโคมีสภาวะกระเพาะรูเมนเป็นกรด หรือที่เรียกว่า สภาวะ Acidosis บางฟาร์มสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที แต่บางฟาร์มก็สายเกินแก้ไข ส่งผลต่อสุขภาพของแม่โค แน่นอนว่าส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง แต่สภาวะดังกล่าวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ ถ้าเกษตรผู้เลี้ยงโคนมมีความเข้าใจหลักการของการเกิดสภาวะ Acidosis

กรดในกระเพาะรูเมน (Acidosis) เป็นภาวะที่มีกรดในกระเพาะรูเมนสูง โดยมีอยู่ 2 แบบ ดังนี้ 

  1. สภาวะกรดในกระเพาะรูเมนแบบเฉียบพลัน (Acute Ruminal Acidosis: ARA) ซึ่งทำให้สัตว์แสดงอาการทางคลินิกได้อย่างชัดเจน เช่น หยุดกินอาหาร ท้องอืด ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วผิดปกติ ถ่ายเหลว ซึม กระสับกระส่าย ล้มลงนอน และตายในที่สุด (Oetzel, 2015)
  2. สภาวะกรดในกระเพาะรูเมนแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Ruminal Acidosis: SARA) ซึ่งโคมักจะมีอาการแบบกึ่งเฉียบพลัน โดยจะไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ พบเพียงการกินได้และมีผลผลิตลดลง เท่านั้น (Abdela, 2016) 

สาเหตุ

  • รูปแบบและสัดส่วนปริมาณการให้อาหารอาหารข้น อาหารข้นประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยสลายง่ายในกระเพาะรูเมน โดยเฉพาะแป้งและน้ำตาล เกษตรกรมักให้ในขณะรีดนม แยกกับอาหารหยาบ ส่งผลทำให้เกิดการหมักย่อยได้อย่างรวดเร็วโดยจุลินทรีย์กลุ่มย่อยแป้ง (amylolytic bacteria) ทำให้กรดในกระเพาะรูเมนเพิ่มขึ้น ค่าความเป็นกรดด่างภายในกระเพาะรูเมนลดลง จึงเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสภาวะ acidosis (Chaucheyras-Durand et al., 2008)
  • อาหารหยาบสับย่อยมีขนาดสั้นกว่า 2-3 นิ้ว จะทำให้เกิดกรดได้ง่าย เนื่องจากอาหารหยาบที่สั้นเกินไปจะผ่านกระเพาะหมักอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารหยาบที่มีขนาดยาวกว่า 2 นิ้วจะสามารถทำให้โคเคี้ยวเอื้องแล้วเกิดน้ำลายเป็น buffer ช่วยปรับความเป็นกรดในกระเพาะรูเมนได้
  • การเติมไขมัน ลงในอาหารก็มีผลทำให้เกิดกรดในกระเพาะรูเมนได้เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นไขมันและน้ำมันบางชนิดจะลดการย่อยได้ของเยื่อใยโดยทำลายแบคทีเรียที่ย่อยเยื่อใย หรือไปเคลือบเยื่อใยไว้ ยากต่อการที่จุลินทรีย์จะเข้าไปย่อย

อาการ

  • ท้องเสียคะแนนมูล 1-2 (ดังแสดงในภาพที่ 1)
  • ซึม เบื่ออาหาร
  • ปริมาณการกินลดลง 
  • โคท้องอืด
  • โคเจ็บกีบ คะแนนการเดินมากกว่า 2 (ดังแสดงในภาพการประเมินอาการเบื้องต้นจากลักษณะมูล)
  • อ่อนเพลียและตายในที่สุด บางตัวอาหารหนักอาจตายภายใน 24 ชั่วโมง
  • องค์ประกอบน้ำนม (ไขมันนม โปรตีนนม แลคโตสในน้ำนม ฯลฯ) ลดลงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

การป้องกัน

  1. ให้อาหารหยาบ:อาหารข้นในปริมาณที่เหมาะสม (ดังแสดงในตารางที่ 1)

                   >30:70 (โคคลอดใหม่ หรือโคที่ให้นม >20 กก./ตัว/วัน)
                   >35:65 (โคระยะกลางให้นม หรือโคที่ให้นม 15-20 กก./ตัว/วัน)
                   >40:60 (โคนมระยะท้าย หรือโคที่ให้นม <15 กก./ตัว/วัน) 
       2. เพิ่มจำนวนการให้อาหารข้นออกเป็น 3 - 4 มื้อต่อวัน 
       3. ให้อาหารหยาบปูรองพื้น แล้ว Top อาหารข้นไว้ด้านบนในขณะรีดนม หรือเปลี่ยนมาให้อาหารในรูปแบบ TMR

การรักษา

  1. ให้สารเสริมที่ช่วยลดความเป็นกรดด่างในกระเพาะรูเมน เช่น ผงฟู (sodium bicarbonate) ปริมาณ 20 กรัม/ตัว/วัน งดอาหารข้น และปล่อยให้กินอาหารหยาบ เช่น ฟาง
  2. ให้วิตามิน B ฉีดเข้าทางใต้ผิวหนัง (thiamine 300–500 มิลลิกรัม 3-5ครั้ง/วัน) ไม่จำเป็นต้องให้กลูโคส
  3. ให้น้ำหมักจากกระเพาะรูเมน โค แกะ หรือ แพะที่มีสุขภาพดี เก็บจากโรงฆ่า เพื่อให้ช่วยปรับสภาพจุลินทรีย์ในกระเพาะหมักให้เป็นปกติโดยเร็ว


เอกสารอ้างอิง
ชัยวัฒน์ จรัสแสง 2560. การลดวันท้องว่างในฝูงโคนมโดยการใช้โปรแกรมการจัดการสุขภาพและผลผลิตฟาร์มโคนม. โครงการวิจัย  Research for Community  วิจัยเพื่อชุมชนสังคม. หน้า 62.
Abdela  N. 2016. Sub-acute ruminal acidosis (SARA) and its consequence in dairy cattle: A review of past and recent research at global prospective. Achievements in the Life Science. 10:187-196.


ดาวน์โหลดเอกสาร

News & Notes - In Ruminant
ดาวน์โหลด