Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

เทคนิคเลี้ยงปลาในฤดูร้อน

          ถ้ากล่าวถึงฤดูร้อน เราจะนึกถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าว แสงแดดที่แผดเผา ไอร้อนจากผิวดินและผิวน้ำ เหงื่อที่ไหลริน ดังนั้นผู้คนในเมืองกรุงจึงเข้าไปเบียดเสียดในห้างสรรพสินค้า และทำกิจกรรมที่ไม่หนักมากนัก สัตว์น้ำจำพวกปลาก็เช่นกัน เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำที่มีพื้นที่จำกัด อุณหภูมิที่สูงขึ้น แออัดไปด้วยจำนวนปลา จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวบางอย่างทั้งในตัวปลา และการช่วยจากผู้เลี้ยงปลา เพื่อให้ปลาสามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างปกติ


          ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นต่างจากร่างกายมนุษย์ที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นโดยที่อุณหภูมิในร่างกายปลาจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิในแหล่งน้ำที่อาศัย ปลาที่เลี้ยงเชิงธุรกิจในประเทศไทยจะเป็นปลาอาศัยในเขตร้อน เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาเหล่านี้คือ 25-30 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนจะมีปัจจัยที่ทำให้ปลาต้องมีการปรับตัว ดังนี้

 

  • อุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจะมีกระบวนการเมทาบอลิซึม(metabolism) สูงขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าสภาวะที่เหมาะสม ปลาจะเกิดความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นในน้ำ ทำให้ปลาต้องปรับสมดุลทางสรีระร่างกายโดยการลดกระบวนการเมทาบอลิซึมในร่างกาย เช่น ว่ายน้ำน้อยลง กินอาหารน้อยลง จนท้ายที่สุดปลาอาจจะต้องหยุดทำกิจกรรมหรือเกิดการตาย นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงเกินกว่าสภาวะที่เหมาะสมมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลาวัยอ่อนที่ยังปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปลาที่โตเต็มวัยแล้ว 
  • ก๊าซออกซิเจน (O2) เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (dissolved oxygen, DO) จะลดลง มีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องการใช้ก๊าซออกซิเจนในการดำรงชีวิตในน้ำ เช่น ปลา แพลงก์ตอน สาหร่าย พืชน้ำ จุลินทรีย์ที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค เป็นต้น ทำให้ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำได้ลดลง ทำให้ปลาเกิดการขาดก๊าซออกซิเจน และตายได้
  • ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นปลาจะมีกระบวนการเมทาบอลิซึม ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น และกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายที่เกิดขึ้นจะมีการปล่อยของเสียในรูปของสารละลายแอมโมเนียมไอออน (NH4+) ลงในแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีผลทำให้คุณภาพน้ำลดลง และทำให้ปลาเกิดความเครียดจากก๊าซแอมโมเนีย นอกจากนี้แพลงก์ตอนพืช และพืชน้ำ จะนำแอมโมเนียที่อยู่ในน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำมีจำนวนมากขึ้น จะมีการใช้ก๊าซออกซิเจนร่วมกันกับปลาที่เลี้ยง ซึ่งจะมีผลทำให้ปลา แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และพืชน้ำเกิดการขาดออกซิเจนในช่วงเวลากลางคืน และอาจเกิดปลาตายในน้ำ เนื่องจากแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำช่วงเวลากลางคืน

          สิ่งที่ผู้เลี้ยงปลาควรระวังและปรับวิธีการเลี้ยงในฤดูร้อน มี 3 ข้อหลัก ดังนี้

  1. จำนวนปลาที่ปล่อยเลี้ยงลงในบ่อหรือกระชัง ควรลดจำนวนลง 10 – 20% ของปริมาณที่ปล่อยในช่วงปกติ เพื่อให้ปลาอยู่โดยไม่แออัด ลดการแย่งก๊าซออกซิเจนในน้ำ และปล่อยของเสียในน้ำน้อยลง 
  2. ปริมาณอาหารที่ให้ควรลดลง 20 - 50% ของปริมาณที่ให้ในแต่ละวัน ถ้าอุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 32 – 34 องศาเซลเซียส
  3. ออกซิเจนที่ละลายน้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวันที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และ/หรือเปิดเครื่องตีน้ำช่วงกลางคืนถ้าเลี้ยงปลาจำนวนหนาแน่นสูง

NOTES: เทคนิคการเลี้ยงปลาในฤดูร้อนเพิ่มเติม ดังนี้

  • สำรวจความพร้อมของทรัพยากรทางน้ำ และสิ่งแวดล้อมก่อนเริ่มเลี้ยงปลาหรือสร้างฟาร์ม
  • วางแผนการจัดการในการลงลูกปลา และอัตราความหนาแน่นในการเลี้ยงช่วงฤดูร้อน หรือปล่อยปลาที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดเวลาการเลี้ยง พร้อมทั้งใช้ลูกปลาที่มีคุณภาพ
  • ติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจับปลาแบบฉุกเฉินหากเกิดภัยพิบัติ
  • สังเกตพฤติกรรมปลา เช่น ปลาไม่กินอาหาร ปลาลอยหัวฮุบอากาศ ปลาว่ายควงสว่าน หรือมีปลาตาย ให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการจัดการ เพื่อลดการสูญเสียปลา
  • เข้าร่วมกลุ่มผู้เลี้ยงปลา หรือสมาคม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเลี้ยงปลา
  • ศึกษาหาเทคโนโลยี เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ มาช่วยลดเวลา และต้นทุนการเลี้ยง
  • สำรวจหาพื้นที่สำรองหรือพื้นที่ใหม่ สำหรับการเลี้ยงปลา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง หรือแหล่งชุมชนที่เติบโตขึ้นรอบพื้นที่เลี้ยง

เอกสารอ้างอิง

Effect of high temperature on survival, grow and feed conversion ratio of Nile tilapia, Oreochromis niloticus. (Pandit and Nakamura, 2010), Capacity of thermal adaptation in Nile tilapia (Oreochromis niloticus)
ผลกระทบของคลื่นความร้อน (สำนักงานกรมประมง จ. สระบุรี, 2566)
Aquaculture adaptation to climate change in the Mekong Region
Improving the performance of tilapia farming under climate variation, Perspective from bioeconomic modelling (FAO, 2018)
Managing the risks from the water-related impacts of extreme weather and uncertain climate change on inland aquaculture in northern Thailand. (Louis Lebel et al., 2018)