Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

2024-04-09

ใช้ยูเรียอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง

          เกษตรกรหลายท่านยังมีข้อสงสัยเกี่ยวการใช้ยูเรียในสัตว์เคี้ยวเอื้อง สรุปแล้วควรใช้หรือไม่? ถ้าใช้แล้วควรใช้ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งจากการที่ได้สอบถามกับเกษตรกร มีเกษตรกรหลายรายยังไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยต่อการใช้ยูเรียในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงทำให้สัตว์มีอาการยูเรียเป็นพิษ อย่างไรก็ตามหากใช้อย่างระมัดระวัง ใช้อย่างถูกต้องถูกวิธี และใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนให้กับจุลินทรีย์ในสัตว์เคี้ยวเอื้องได้

 ทำไมต้องใช้ยูเรียในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง

          โปรตีนแท้ เช่น กากถั่งเหลือง โดยปกติแล้วเมื่อเข้าสู่กระเพาะรูเมน ปริมาณ 60% จะถูกจุลินทรีย์ในรูเมนย่อยสลายเป็นแอมโมเนีย นำไปสร้างเป็น จุลินทรีย์โปรตีน แล้วจึงผ่านสู่กระเพาะแท้และลำไส้เล็กเพื่อย่อยและดูดซึม ส่วนอีก 40% โปรตีนแท้จะไม่ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์แต่จะผ่านไปยังกระเพาะแท้และลำไส้เล็กไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง

          ยูเรีย คือ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ที่ใช้เป็นแหล่งไนโตรเจนให้กับพืช มีไนโตรเจน 46% เมื่อคิดเป็น crude protein จะมีค่าเท่ากับ 265 % ในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งไนโตรเจนร่วมกับโปรตีนแท้ได้ จัดเป็นแหล่งไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีน (Non-Protein Nitrogen , NPN) เมื่อยูเรียเข้าสู่กระเพาะรูเมนจะถูกจุลินทรีย์เปลี่ยนเป็นแอมโมเนียไนโตรเจน (NH3-N) 100% เพื่อใช้สร้างเป็นจุลินทรีย์โปรตีน (Microbial protein) ดังนั้น การใส่ยูเรียในอาหารจึงใส่เพื่อให้จุลินทรีย์ได้นำไปใช้ประโยชน์ ไม่ได้ใส่เพื่อให้สัตว์เคี้ยวเอื้องนำไปใช้ได้โดยตรง (ดังแสดงในภาพที่ 1)

ข้อจำกัด/ข้อแนะนำในการใช้ยูเรีย

  1. ระดับการใช้ที่แนะนำในสูตรอาหารข้นไม่เกิน 2% ในสูตรอาหาร หรือไม่เกิน 1% ของวัตถุแห้งในอาหารที่สัตว์ได้รับทั้งหมดต่อวัน (สุธิดา และคณะ 2548)
  2. ต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย เช่น กากน้ำตาล มันเส้น เป็นต้น ในระดับที่เพียงพอให้จุลินทรีย์นำไปใช้เปลี่ยนแอมโมเนียเป็น microbial protein
  3. ผสมยูเรียให้กระจายตัวเข้ากับอาหารให้มากที่สุด ยูเรียต้องไม่จับตัวเป็นก้อน
  4. ห้ามใช้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องที่อายุน้อย (หย่านม-5 เดือน) เนื่องจากกระเพาะรูเมนยังไม่เจริญเต็มที่ ปกติกระเพาะรูเมนของโคจะเจริญเต็มที่เมื่อโคอายุประมาณ 4-5 เดือน
  5. หากอาหารหยาบและอาหารข้นมีการเสริมยูเรียแนะนำว่าต้องคำนวณปริมาณของยูเรียที่โคได้รับให้ไม่เกิน 1% ในอาหารสัตว์ที่โคได้รับทั้งหมดต่อวัน

ผลกระทบจากการใช้ยูเรียเกินข้อจำกัด/ข้อแนะนำ

          อาการเป็นพิษแบบฉับพลัน จะเกิดอาการได้ชัดเจนเมื่อโคได้รับปริมาณยูเรีย 0.1% ของน้ำหนัก หรือประมาณ 0.5 kg เมื่อโคน้ำหนัก 500 kg (รัมภา และคณะ 2549) อาการที่เห็นกันทั่วไป โคจะน้ำลายฟูมปาก หายใจลำบาก มีอาการทางประสาท กล้ามเนื้อชักกระตุก อย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด (Fraser,1963, Dinningetal.,1984) วิธีที่ช่วยลดอาการเป็นพิษสามารถทำได้ดังนี้ คือ ใช้น้ำส้มสายชู : น้ำเย็น หรือ ใช้กรด Acetic/Formic : น้ำเย็น ในอัตราส่วน 1:1 ป้อนเข้าปากโคให้เร็วที่สุด (ดังแสดงในภาพที่ 2)

          ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ มีงานวิจัยศึกษาว่าเมื่อสัตว์ได้รับอาหารข้นระยะเวลาผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมง ปริมาณ BUN ต้องไม่เกิน 19 mg/dl ถึงจะไม่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์  หากเกินกว่านั้นจะส่งผลให้โคเป็นสัดเงียบ อัตราการผสมติดและอัตราการตั้งท้องลดลง (Elrod and Butler, 1993; Ferguson et al., 1993; Butler, 1998) ซึ่งปกติหากใช้ยูเรียในอาหารข้น 2% ค่า BUN ในโคนมจะมาค่าเท่ากับ 8.3 mg/dl ทั้งนี้ BUN จะหลงเหลือเข้าสู่กระแสเลือดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณ NSC และความสามารถของจุลินทรีย์ในการเปลี่ยน NH3-N ไปเป็น Microbial protein (ดังแสดงในภาพที่ 2)

อ่านต่อ