ในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว อากาศจะมีความแปรปรวนไม่แน่นอน และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิน้ำจะลดต่ำลง เป็นปัจจัยโน้มนำและกระตุ้นให้ปลาเกิดความเครียด เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นอุณหภูมิภายในร่างกายของปลาจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมภายนอก หากปลาไม่สามารถปรับร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน จะส่งผลทำให้ปลามีความเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงระบบการเผาผลาญพลังงานของปลาจะลดต่ำลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของปลา
วิธีแก้ไข ในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว
1. การควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม เช่น หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน อากาศร้อนสลับเย็น อากาศหนาว ควรงดหรือลดปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดของเสียจากการที่ปลาไม่กินอาหาร
2. การทำให้น้ำในบ่อ หรือน้ำในกระชัง เคลื่อนไหว เนื่องจากฝนตกทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ถ้ามีการทำให้น้ำเคลื่อนไหวโดยการปั่นน้ำหรือตีน้ำ ก็จะทำให้เพิ่มออกซิเจนในน้ำได้
3. การใส่เกลือแกง โดยสามารถแก้สภาพความเป็นกรดของน้ำได้ และช่วยทำให้ปลาหายเครียด
4. การโรยปูนมาร์ล เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำหลังจากฝนตก (ฝนตกทำให้น้ำมีค่าเป็นกรด) สามารถทำให้ค่าน้ำกลับมาอยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาได้
การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ พีเอชของน้ำ
1. พีเอชต่ำ (pH น้อยกว่า 6) อาจเกิดจากฝนตกทำให้น้ำเป็นมีค่าเป็นกรด หรือเกิดจากการมีก๊าซไข่เน่า หรือการปนเปื้อนของโลหะหนัก เป็นต้น
กรณีเตรียมบ่อ ใช้ปูนมาร์ล หรือปูนโดโลไมท์ 150-200 กก./ไร่ หว่านทั่วพื้นบ่อที่ชื้น หรือมีน้ำชุ่ม
กรณีควบคุมคุณภาพในระหว่างการเลี้ยงปลา ใช้ปูนมาร์ล 15-20 กก./ไร่ โดยผสมกับน้ำกวนให้เข้ากัน รอ 10-15 นาที แล้วสาดทั่วบ่อในเวลากลางคืน
2. พีเอชสูงเกินไป (pH มากกว่า 9) เกิดจากพืชหรือแพลงค์ตอนพืช (น้ำเขียวมาก) ในบ่อมากเกินไป
แก้ไข ใช้ปูนยิปซั่ม หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต 15-20 กก./ไร่ โดยผสมกับน้ำ
ผู้เลี้ยงปลาจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ ปรับการเลี้ยง และป้องกันโรค สำหรับการเลี้ยงปลาในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว และในช่วงฤดูหนาว สามารถทำได้ดังนี้
1. วางแผนการเลี้ยง
• ควรวางแผนระยะเวลาการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม หรือควรเว้นการลงลูกปลาในช่วงฤดูหนาว
2. บ่อพักน้ำ
• ควรมีบ่อพักน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ในฟาร์มได้เพียงพอตลอดฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
3. ลดความหนาแน่นการเลี้ยง
• ลดปริมาณความหนาแน่นการเลี้ยงลงครึ่งหนึ่งจากปกติ
• กรณีไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ในระหว่างการเลี้ยง ให้ควบคุมความหนาแน่นของปลาและการให้อาหาร
4. ควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม
• ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10-15% เนื่องจากช่วงอุณหภูมิต่ำ ปลาจะกินอาหารได้น้อยลง ทำให้อาหารที่เหลือจะสะสมตามพื้นบ่อ ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำเสียได้
• เสริมวิตามินซีในอาหาร 1-2% เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรคและลดความเครียดของปลาได้
5. ปรับเวลาในการให้อาหาร
• ควรให้อาหารในช่วงที่มีแสงแดด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำและค่าออกซิเจนในน้ำจะเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นการกินและระบบเผาผลาญของปลาได้
6. การใช้ยาปฏิชีวนะ และวิตามินซี
• เมื่อปลามีการตายผิดปกติ หรือปลามีลักษณะเป็นโรค ใช้ยาปฏิชีวนะและวิตามินซี ผสมกับอาหารให้ปลากินติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดพร้อมกัน และควรงดใช้ยาก่อนจับสัตว์น้ำอย่างน้อย 10-21 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา
7. กำจัดปลาที่ตายหรือป่วยออก
• ทำลายโดยการฝังดินหรือเผาทิ้งทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
8. เกษตรกรควรติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ
•เพื่อติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
เมื่ออากาศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม (อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น) และพบว่าปลาในธรรมชาติเป็นปกติ ไม่มีอาการป่วย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ ตามความเหมาะสมและให้อาหารปลาได้ตามโปรแกรมการให้อาหารของปลาแต่ละช่วงวัย
โรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว
• โรคอียูเอส.(Epizootic.Ulcerative.Syndrome, EUS) หรือโรคแผลเน่าเปื่อย
อาการ: พบลักษณะปุยสีขาวคล้ายสำลี บริเวณแผลของตัวปลา มีแผลเน่าเปื่อยลึกตามตัว
การป้องกัน: ปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารเคมีที่สามารถฆ่าเชื้อที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อปลาได้ จึงทำได้เพียงป้องกันโดยจัดการการเลี้ยงปลาตามข้างต้น และใช้อาหารที่เสริมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
• โรคตัวด่าง (Columnaris disease)
อาการ: มีแผลหรือรอยด่างบริเวณผิวหนัง และลำตัว ครีบกร่อน เกล็ดหลุด
การป้องกัน: ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม หากมีการเคลื่อนย้าย หรือขนส่งปลา ให้ใช้เกลือแกง 1 กก. ต่อน้ำ 1 ตัน หรือแขวนเกลือตามขอบบ่อ/ขอบกระชัง เพื่อช่วยลดความเครียด