Good farming management (GFM) คืออะไร ???
การจัดการฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เป็นการยกระดับและผลักดันให้ฟาร์มปศุสัตว์การเลี้ยงสุกรรายย่อย จำนวนสุกร 1-50 ตัว และรายเล็ก จำนวนสุกร 51-500 ตัว ให้มีระบบการป้องกันโรคและการจัดการที่ดี โดยมีพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ตามมาตรา 7 แห่งพรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยระบบ GFM ช่วยลดความสูญเสียของเกษตรกรจากปัญหาโรคระบาด ผลผลิตดี และมีคุณภาพ
ทำ GFM แล้วได้อะไร ???
- ระบบการป้องกันโรค: ช่วยลดปัญหาโรคระบาดและลดปัญหาการดื้อยา ด้วยระบบ Biosecurity และการจัดการสุขภาพสัตว์
- การตรวจสอบย้อนกลับ: เพื่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยทางอาหาร โดยวิธีการจัดทำข้อมูลทะเบียนฟาร์ม ข้อมูลสัตว์ ข้อมูลสุขภาพสัตว์ ข้อมูลบุคคลและยานพาหนะเข้า-ออก
- การเพิ่มผลผลิต: ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มีความมั่นคงและยั่งยืน
- การจ่ายค่าชดเชย: ในกรณีที่ฟาร์มมีการซื้อสุกรเขาฟาร์มและพบการติดเชื้อ หากรักษาไม่หายต้องมีการควบคุมโรค หรือต้องมีการทำลายสุกรทิ้ง ฟาร์มที่ได้รับ GFM จะสามารถได้รับการจ่ายค่าชดเชย
หลักการจัดการฟาร์มตามระบบ GFM
>> พื้นที่เลี้ยงและโครงสร้าง
- ฟาร์มตั้งอยู่ห่างจากโรงฆ่าสัตว์ หรือตลาดนัดสัตว์ อย่างน้อย 500 เมตร
- คอกสุกรต้องมีเนื้อที่เพียงพอต่อจำนวนสุกร เพื่อลดความแออัดและพื้นที่เลี้ยงควรแยกจากที่พักอาศัย
- มีรั้ว หรือการจัดการที่สามารถป้องกันคนและยานพาหนะเข้าพื้นที่เลี้ยงสุกร
- มีป้ายเตือน “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต” ที่ประตูทางเข้าพื้นที่เลี้ยงสุกร
- ก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสุกรต้องมีการอาบน้ำ เปลี่ยนชุดและรองเท้าก่อนเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกร
- มีบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสุกร
- มีพื้นที่สำหรับกักสุกรที่รับมาใหม่ ก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงเดิมและมีพื้นที่สำหรับแยกสุกรป่วยออกจากฝูง
- มีพื้นที่สำหรับขายสุกรบริเวณนอกพื้นที่เลี้ยงสุกร
>> การจัดการด้านสุขภาพ
- สุกรที่นำมาเลี้ยงใหม่ต้องทราบแหล่งที่มา หรือมีการกักโรคก่อนนำเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 14 วัน
- มีการถ่ายพยาธิ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย อหิวาห์สุกร และโรคอื่นตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด
- ไม่ใช้พ่อพันธุ์ร่วมกับฟาร์มอื่นๆ ในกรณีที่มีการใช้การผสมเทียมต้องมีการนำเชื้อมาจากแหล่งที่มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์
- เมื่อสุกรป่วย ตายด้วยโรคระบาด สงสัยว่าเป็นโรค หรือไม่ทราบสาเหตุการตายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที ตามมาตราการป้องกันโรค ASF ห้ามมีการขายซาก และชำแหละซากเป็นอาหาร จึงต้องมีการจัดการซากสุกรอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรคและโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น
- การเผา : ต้องเผาซากจนหมดกลายเป็นขี้เถ้า และทำการแช่ขี้เถ้าด้วยโซดาไฟ 1 คืนก่อนทิ้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค
- การทิ้งซากสุกร : ควรมีวัสดุปูรอง และมีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
- การฝังกลบซากสุกร : พื้นที่ใช้ในการฝังกลบต้องเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไปถึง ต้องฝังกลบความลึกที่กำหนด คือ เหนือระดับน้ำทะเล 1 เมตร ซากทับซ้อนกันสูงไม่เกิน 2.5 เมตร ฝังกลบด้วยดินสูง 50 ซม. และกลบด้วยดินด้านบนอีก 50 ซม. ซึ่งต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและโรยปูนขาว เพื่อเป็นการลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
>> การจัดการอาหาร น้ำและยาสัตว์
- มีการจัดเก็บอาหารที่สะอาด แห้ง ไม่อับชื้น ต้องไม่มีรา หรือมีวัตถุเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่ปนเปื้อนในอาหาร สามารถการเสื่อมสภาพของอาหารสัตว์ และป้องกันสัตว์พาหะนำโรคได้
- มีการจัดเก็บ รักษาคุณภาพของวัคซีนและยารักษาโรคอย่างเหมาะสม
- มีการใช้ยา วิตามิน หรือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสำหรับสุกรที่มีทะเบียนอย่างถูกต้อง
- มีการใช้ยารักษาโรคภายใต้คำแนะนำของสัตว์แพทย์
>> การจัดข้อมูล
- มีการจดบันทึกข้อมูลการดูแลสุขภาพสัตว์
- มีการบันทึกข้อมูลการผลิต และผลผลิต
- มีการจดบันทึกข้อมูลบุคคล และยาพาหนะเข้าออก
เอกสารอ้างอิง
สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2564. ฟาร์มที่มีระบบการป้องกัน โรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good farming management, GFM). แหล่งที่มา : https://pvlo-yaa.dld.go.th/yaa25/images/stories/office/71-2564.pdf.
.