Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

การจัดการความเครียดที่เกิดจากความร้อนในแม่สุกร

          ปัญหาสภาวะอากาศร้อนส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ เป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น ระยะการหย่านม-ผสมนานขึ้น อัตราการคลอดลดลง และขนาดครอกลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักมีผลมาจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน (Heat stress) โดยความร้อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

          ความร้อนจากภายนอกร่างกาย  คือ ความร้อนจากสภาพอากาศ หรือความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกแพร่เข้ามาภายในโรงเรือน ทำให้แพร่รังสีความร้อนเข้าสะสมในตัวหมู
          ความร้อนจากภายในร่างกาย  คือ ความร้อนจากการเผาผลาญสารอาหารในกระบวนการเมแทบอลิซึม
ภายในร่างกาย เพื่อให้ได้เป็นพลังงานในแม่สุกร ก่อให้เกิดความร้อนภายในร่างกายได้ และหากแม่สุกรกินอาหารมากจนเกินไปอาจจะก่อให้เกิดความร้อนสูงภายในร่างกาย และส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้ นอกจากนี้การเผาผลาญสารอาหารในลูกสุกรภายในท้องยิ่งแม่สุกรใกล้คลอดลูกสุกรก็จะต้องการสารอาหารมากขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ความร้อนจากการเมทาบอลิซึมสูงขึ้นตามไปด้วย โดยความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวลูกสุกรจะถูกถ่ายทอดมายังตัวแม่สุกร เพื่อขับออก ทำให้แม่สุกรมีอาการหอบ 

         ซึ่งความร้อนที่เกิดจากภายนอก และภายในร่างกายของแม่สุกร เมื่อมีการสะสมมากๆในร่างกาย จะส่งผล
ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ทำให้แม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ส่งผลเสียต่อ
การผลผลิตในแม่สุกรได้ ดังนี้

แม่สุกรช่วงก่อนผสม

  • แม่สุกรไม่เป็นสัดหลังหย่านม มีอาการเป็นสัดแต่ไม่แสดงอาการ ระยะการเป็นสัดสั้นลง เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน
  • ระยะหย่านม-ผสมนานขึ้น เนื่องจากการทำงานของรังไข่ลดลง
  • วงรอบการเป็นสัดนานขึ้น อัตราการตกไข่ลดลง เป็นผลมาจากการกินอาหารของแม่สุกรลดลง

แม่สุกรช่วงหลังจากผสม

  • ระยะแรกของการอุ้มท้อง หากแม่สุกรมีความเครียดในช่วง 1-2 วัน จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการผสมลดลง ทำให้ตัวอ่อนตายหลังผสมเพิ่มขึ้น
  • ระยะผสม-อุ้มท้อง 8 วัน และระยะฝังตัวของตัวอ่อน (9-16 วัน) หากแม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อนจะส่งผลทำให้เกิดการแท้ง แม่สุกรกลับสัดหลังจากผสม และมีการแสดงอาการเป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น (Silent heat)
  • ช่วงระยะกลางของการอุ้มท้อง (หลังจากผสม 3 สัปดาห์ - 3เดือน) แม่สุกรจะมีความทนทานต่อความเครียด แต่ความร้อนที่สูงอาจจะยังส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้เช่นกัน
  • ระยะท้ายของการอุ้มท้อง (2 สัปดาห์ก่อนคลอด) ลูกสุกรมีโอกาสตายก่อนคลอดได้ เนื่องจากสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ลูกสุกรมีน้ำหนักแรกคลอด และน้ำหนักคลอดลดลง และความร้อนยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่สุกรลดลงอีกด้วย 
  • ระยะเลี้ยงลูก แม่สุกรที่ได้รับความเครียดจากความร้อนอาจต้องมีการใช้ระยะเวลาในการคลอดนาน มีผลทำให้อัตราการตายหลังคลอดสูงขึ้น แม่สุกรผลิตน้ำนมได้ลดลง และยังส่งผลทำให้การกินอาหารของแม่สุกรลดลง

วิธีการแก้ไขความเครียดจากความร้อนในแม่สุกร

  • มีการเปิดพัดลมภายในโรงเรือน เพื่อช่วยในการระบายอากาศ โดยให้ทิศทางลมภายในโรงเรือนไปในทิศทางเดียวกับทิศทางลมธรรมชาติ เพื่อช่วยในการระบายอากาศภายในโรงเรือน
  • ต้องคำนึงความร้อนที่มาจากหลังคา ซึ่งหลังคาโรงเรือนควรจะมีการใช้สแลนพรางแสงที่ 80-90% หรือการนำสแลนมาทำฝ้า เพื่อช่วยลดความร้อนจากหลังคาโรงเรือนแพร่มายังตัวแม่สุกร 
  • การย้ายแม่สุกรขึ้นเล้าคลอด ในช่วงอากาศร้อนอาจจะมีการอาบน้ำแม่สุกรก่อน แล้วจึงจะทำการย้าย เนื่องจากเป็นการลดความเครียดที่เกิดจากความร้อน และหลังจากนั้นต้องมีการติดตามอาการแม่สุกรอย่างสม่ำเสมอ
  • ในช่วงอากาศร้อนแม่สุกรมักจะเกิดอาการหอบได้ง่าย ดังนั้นการอาบน้ำแม่สุกรจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยจะทำการอาบน้ำแม่สุกรให้ตัวเย็นลง และควรอาบก่อนให้อาหาร เพื่อให้แม่สุกรกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งในช่วงเช้าถ้าหากสภาพอากาศไม่ร้อนมาก อาจจะพิจารณาในการอาบน้ำเป็นรายตัวไป 
  • มีการติดตั้งระบบน้ำหยด เนื่องจากความร้อนจากอากาศหรือสภาพแวดล้อมมักจะส่งผลทำให้แม่สุกรมีอาการหอบ ดังนั้นการติดตั้งระบบน้ำหยดก็จะสามารถช่วยระบายความร้อนในตัวแม่สุกรได้
  • ในช่วงอากาศร้อนแม่สุกรก็จะมีความต้องการน้ำมากกว่าปกติ ดังนั้นต้องมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากน้ำมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะส่งผลเสียทำให้แม่สุกรกินอาหารลดลงได้
  • การเลือกใช้อาหารที่คุณภาพดี และสารอาหารตรงความต้องการของแม่สุกร ทั้งในระยะอุ้มท้อง และระยะเลี้ยงลูก เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้แม่สุกรมีประสิทธิภาพผลผลิตที่ดี ส่งเสริมการพัฒนาของเซลล์เต้านม และระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังยังส่งผลไปยังลูกสุกรในการพัฒนา และการเจริญเติบโตของร่างกาย

เอกสารอ้างอิง
สมโภชน์ ทับเจริญ. 2553. การดูแลหมูหน้าร้อน. วารสารปศุสัตว์เกษตรศาสตร์, ปีที่ 36(143). 17-23.
Mayorga, E. J., David, R., Brett, C. R., Jason, W. R., and Lance, H. B. 2019. Heat stress adaptations  in pigs. American Society of Animal Science. 9(1): 54-61.
Ross, J. W., B. J.Hale, N. K.Gabler, R. P.Rhoads, A. F.Keating, and L. H.Baumgard. 2015. Physiological consequencesof heat stress in pigs. Anim. Prod. Sci. 55:1381–1390.