Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

“18 Week Wall” กำแพงการเจริญเติบโตของสุกร

        การผลิตสุกรในปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ตลอดจนการปรับระบบการจัดการใหม่เพื่อการกำจัดและควบคุมโรคต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการพัฒนาปรับปรุง แต่เหล่าผู้ผลิตสุกรและสัตวแพทย์ยังต้องพบเจอกับปัญหาจากโรคและประสิทธิภาพที่แย่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาจากโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตและความยุ่งยากสำหรับผู้ผลิตและผู้ปฏิบัติงาน แม้จะมีเทคโนโลยีการจัดการใหม่ๆ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรค โฮสต์ และสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นแล้วก็ตาม

        ปัญหาจากโรคทางระบบหายใจที่ยังไม่มีใครสามารถระบุสาเหตุของมันเองได้ชัดเจน กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจึงเรียกแทนภาวะนี้ว่า Porcine Respiratory Disease Complex หรือ PRDC (ดังแสดงในภาพที่ 1) ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งไวรัส และแบคทีเรีย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและการจัดการ ทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจ หลังย้ายเข้ามาในส่วนเลี้ยงสุกรขุน ซึ่งมักเรียกแทนว่าเป็น “18 to 20 week wall” และทำให้ประสิทธิภาพลดลงอย่างชัดเจน เมื่อมีการระบาดของ PRDC เกิดขึ้น จะพบว่าสุกรโตช้าและไม่สม่ำเสมอ อัตราการตายและการคัดทิ้งเพิ่มสูงขึ้น ประสิทธิภาพการให้อาหารลดลงจำนวนวันเลี้ยงเพิ่มขึ้น และต้นทุนในการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีรายงานว่า PRDC สามารถทำให้อัตราการป่วยถึง 70% โดยอัตราการตายระหว่าง 4-6% 

        PRDC มักเกิดจากการทำงานร่วมกันของเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรีย โดยอาการจะรุนแรงขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมและการจัดการไม่เหมาะสม โดยมักเกี่ยวข้องกับไวรัสจำพวก Porcine reproductive and respiratory syndrome (PRRS), Porcine circovirus type 2 (PCV2), Swine influenza (SIV), Pseudorabies virus (PRV, AD), และ Porcine respiratory corona virus (PRCV) โดยไวรัสเหล่านี้จะร่วมกับแบคทีเรียหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งชนิด ซึ่งแบคทีเรียที่เกี่ยวกับ PRDC จะแบ่งเป็นเชื้อปฐมภูมิ (Primary bacteria) และเชื้อทุติยภูมิ (Secondary bacteria) ดังแสดงในตารางที่ 1

        นอกจากการติดเชื้อ สาเหตุอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อทั้งสิ่งแวดล้อมและการจัดการที่ไม่เหมาะสมมีส่วนเพิ่มการพัฒนาของภาวะ PRDC ได้เช่นกัน ดังนี้

  • ความเครียดจากสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศหนาว การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่รวดเร็วเกินไป ความชื้นสูง 
  • ความถี่ในการคละสุกร
  • การเลี้ยงแบบต่อเนื่อง
  • ระดับแอมโมเนียมากกว่า 50 ppm 
  • โปรแกรมการทดแทนหมูสาวที่ไม่ดี
  • ประชากรส่วนใหญ่ของสุกรในฝูงมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ความกว้างของช่วงอายุหย่านมของลูกสุกรที่มากเกินไป
  • การเลี้ยงลูกสุกรจากหลายแหล่งรวมกัน

        การวินิจฉัยหาสาเหตุของ PRDC ในฝูงนั้นทำได้ยากเนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการทางคลินิคที่พบมีตั้งแต่อาการรุนแรงน้อยจนถึงรุนแรงมาก ได้แก่ ซึม ไม่กินอาหาร ไข้ น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ไอ และหายใจกระแทก ซึ่งไม่ใช่ทุกสาเหตุจะแสดงอาการเหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรวบรวมประวัติการป่วย อายุสุกรที่แสดงอาการ อัตราการป่วยและตาย ประวัติการใช้ยาและการตอบสนองต่อการรักษา สถานะวัคซีนของแม่สุกรและลูกสุกรในปัจจุบัน รวมทั้งใช้ผลเลือด ผลการผ่าซาก การเก็บและส่งตัวอย่างที่เหมาะสม เพื่อช่วยวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นและประเมินสถานะภูมิคุ้มกันของฝูง

        ภาวะ PRDC นั้นยังคงเป็นความท้าทายของทั้งสัตวแพทย์และผู้ผลิตสุกร ต้องมีนโยบายการจัดการที่เข้มงวด และมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ เช่น

  • การทำวัคซีน เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันให้สม่ำเสมอและมีการจัดทำตารางฉีดวัคซีนที่ชัดเจน 
  • การเลี้ยงสุกรแบบเข้า-ออกหมด (All in-All out) 
  • การเข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) 
  • การแยกหย่านม และการจัดการลูกหย่านมจากหลายแหล่ง

เอกสารอ้างอิง
Dee SA: 1996, The porcine respiratory disease complex: Are subpopulations important?. Swine Health and Production 4(3):147-149.
Dee SA: 1997, Porcine respiratory disease complex: "The 18 week wall”. Proc of Amer Assoc Swine Pract, 465-66.
Hillyer, G. Plight of PRDC. Hogs Today, May 1997: 13.
Hoover, T. Porcine Respiratory Disease Complex. Pfizer Animal Health Technical Bulletin. October 1996.
Oh, T., Park, K. H., Yang, S., Jeong, J., Kang, I., Park, C., and Chae, C. 2019. Evaluation of the efficacy of a trivalent vaccine mixture against a triple challenge with Mycoplasma hyopneumoniae, PCV2, and PRRSV and the efficacy comparison of the respective monovalent vaccines against a single challenge. BMC Veterinary Research, 15(1). 
 


ดาวน์โหลดเอกสาร

“18 Week Wall” กำแพงการเจริญเติบโตของสุกร
ดาวน์โหลด