Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

2024-01-04

วิธีการผสมเทียมแม่สุกร (Artificial Insemination in Swine)

        ในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มักจะใช้วิธีการผสมเทียมแม่สุกรมากกว่าการผสมแบบธรรมชาติ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก และรวดเร็ว ช่วยทำให้ยีนดีจากพ่อพันธุ์แพร่กระจายได้เร็ว น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่ดี 1 ตัวสามารถผสมแม่สุกรได้ 8-10 ตัว ช่วยแก้ปัญหาในด้านการผสมพันธุ์ เช่น ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ (Low fertility) ความไม่อยากผสมพันธุ์ (Low libido) หรือปัญหาเรื่องขาเสีย ขาอ่อน ขนาดของพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่วิธีในการผสมเทียมต้องมีข้อระมัดระวัง คือ การผสมเทียมหากมีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือขาดการรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ และที่สำคัญอาจจะส่งผลทำให้อัตราการผสมติดลดลงอีกด้วย

การผสมสุกรแม่พันธุ์   สามารถผสมเทียมสุกรแม่พันธุ์ มีหลักการในการผสม ดังนี้

  • แม่สุกรสาว ควรผสมทันทีที่พบการเป็นสัด และทำการผสมซ้ำหลังจากผสมรอบแรก 12 ชั่วโมง 
  • แม่สุกรนาง ควรผสมครั้งแรกหลักจากตรวจพบอาการเป็นสัด (ยืนนิ่ง) แล้ว 12 ชั่วโมง จากนั้นจึงผสมซ้ำหลังจากผสมรอบแรก 12 ชั่วโมง 

การตรวจการเป็นสัด 

        ใช้พ่อพันธุ์ที่มีความคึกดี ตรวจ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเมื่อใช้น้ำหนักกดทับบริเวณหลัง และสะโพกสุกรจะแสดงอาการยืนนิ่ง แม่สุกรที่เป็นสัดจะแสดงอาการกระวนกระวายไม่นอน, กินอาหารลดลง, พยายามปีนขี่สุกรตัวข้างเคียง, อวัยวะเพศบวมแดงมีน้ำเมือกหล่อลื่นช่องคลอด (ดังแสดงในภาพที่ 1)

ขั้นตอนการผสมเทียม

  1. การผสมเทียมเริ่มโดยการทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอดด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ (ดังแสดงในภาพที่ 2)
  2. สอดท่อผสมเทียมเข้าไปเอียงทำมุม 45 องศากับแนวนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อผสมเทียมเข้าไปในท่อปัสสาวะ ซึ่งการสอดท่อผสมเทียมจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา เพื่อให้เกลี่ยวของท่อผสมเทียมเข้าไปล็อคอยู่ที่บริเวณคอมดลูก (ดังแสดงในภาพที่ 3)
  3. ลองดึงออกเบาๆ จะรู้สึกว่าติดหนึบ ๆ แสดงว่าท่อผสมเทียมล็อคที่บริเวณคอมดลูกแล้ว หลังจากนั้นต่อหลอดน้ำเชื้อเข้ากับปลายท่อผสมเทียม ระยะเวลาที่ปล่อยน้ำเชื้อให้หมดใช้ระยะเวลา 3-5 นาที (ดังแสดงในภาพที่ 4)
  4. ปล่อยให้น้ำเชื้อถูกดูดเข้าร่วมกับการกระตุ้นแม่สุกรในขณะผสมเทียม เช่น ใช้พ่อสุกรมายืนอยู่ด้านหน้ากรงของแม่สุกร เพื่อให้แม่สุกรได้กลิ่น ได้เห็น และได้ยินเสียงของพ่อสุกร จะทำให้แม่สุกรยืนนิ่ง และหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซิน (Oxytocin) ออกมาเพื่อทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัวดูดเอาน้ำเชื้อเข้าไปยังมดลูก
  5. อาจจะมีการใช้กระสอบบรรจุทรายหนัก 10-15 กก. วางทับหลังแม่สุกรขณะผสม หรือให้คนขึ้นนั่งขณะผสม และควรใช้มือลูบที่บริเวณสีข้าง หรือราวนมไปมาช้า ๆ เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก หลังจากน้ำเชื้อหมดหลอดให้คาท่อผสมเทียมไว้ 10-15 นาที แล้วค่อยดึงออก
อ่านต่อ





2024-01-20

การจัดการความเครียดที่เกิดจากความร้อนในแม่สุกร

          ปัญหาสภาวะอากาศร้อนส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ เป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น ระยะการหย่านม-ผสมนานขึ้น อัตราการคลอดลดลง และขนาดครอกลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักมีผลมาจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน (Heat stress) โดยความร้อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

          ความร้อนจากภายนอกร่างกาย  คือ ความร้อนจากสภาพอากาศ หรือความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกแพร่เข้ามาภายในโรงเรือน ทำให้แพร่รังสีความร้อนเข้าสะสมในตัวหมู
          ความร้อนจากภายในร่างกาย  คือ ความร้อนจากการเผาผลาญสารอาหารในกระบวนการเมแทบอลิซึม
ภายในร่างกาย เพื่อให้ได้เป็นพลังงานในแม่สุกร ก่อให้เกิดความร้อนภายในร่างกายได้ และหากแม่สุกรกินอาหารมากจนเกินไปอาจจะก่อให้เกิดความร้อนสูงภายในร่างกาย และส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้ นอกจากนี้การเผาผลาญสารอาหารในลูกสุกรภายในท้องยิ่งแม่สุกรใกล้คลอดลูกสุกรก็จะต้องการสารอาหารมากขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ความร้อนจากการเมทาบอลิซึมสูงขึ้นตามไปด้วย โดยความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวลูกสุกรจะถูกถ่ายทอดมายังตัวแม่สุกร เพื่อขับออก ทำให้แม่สุกรมีอาการหอบ 

         ซึ่งความร้อนที่เกิดจากภายนอก และภายในร่างกายของแม่สุกร เมื่อมีการสะสมมากๆในร่างกาย จะส่งผล
ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ทำให้แม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ส่งผลเสียต่อ
การผลผลิตในแม่สุกรได้ ดังนี้

แม่สุกรช่วงก่อนผสม

  • แม่สุกรไม่เป็นสัดหลังหย่านม มีอาการเป็นสัดแต่ไม่แสดงอาการ ระยะการเป็นสัดสั้นลง เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน
  • ระยะหย่านม-ผสมนานขึ้น เนื่องจากการทำงานของรังไข่ลดลง
  • วงรอบการเป็นสัดนานขึ้น อัตราการตกไข่ลดลง เป็นผลมาจากการกินอาหารของแม่สุกรลดลง

แม่สุกรช่วงหลังจากผสม

  • ระยะแรกของการอุ้มท้อง หากแม่สุกรมีความเครียดในช่วง 1-2 วัน จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการผสมลดลง ทำให้ตัวอ่อนตายหลังผสมเพิ่มขึ้น
  • ระยะผสม-อุ้มท้อง 8 วัน และระยะฝังตัวของตัวอ่อน (9-16 วัน) หากแม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อนจะส่งผลทำให้เกิดการแท้ง แม่สุกรกลับสัดหลังจากผสม และมีการแสดงอาการเป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น (Silent heat)
  • ช่วงระยะกลางของการอุ้มท้อง (หลังจากผสม 3 สัปดาห์ - 3เดือน) แม่สุกรจะมีความทนทานต่อความเครียด แต่ความร้อนที่สูงอาจจะยังส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้เช่นกัน
  • ระยะท้ายของการอุ้มท้อง (2 สัปดาห์ก่อนคลอด) ลูกสุกรมีโอกาสตายก่อนคลอดได้ เนื่องจากสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ลูกสุกรมีน้ำหนักแรกคลอด และน้ำหนักคลอดลดลง และความร้อนยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่สุกรลดลงอีกด้วย 
  • ระยะเลี้ยงลูก แม่สุกรที่ได้รับความเครียดจากความร้อนอาจต้องมีการใช้ระยะเวลาในการคลอดนาน มีผลทำให้อัตราการตายหลังคลอดสูงขึ้น แม่สุกรผลิตน้ำนมได้ลดลง และยังส่งผลทำให้การกินอาหารของแม่สุกรลดลง
อ่านต่อ