Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

น้ำ และการจัดการน้ำในฟาร์มสุกร ที่ไม่ควรมองข้าม!!

น้ำ เป็นส่วนประกอบของร่างกายสุกรสูงถึง 75% ของน้ำหนักตัว ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ถูกลืม เพราะไม่ใช่สารอาหารที่ถูกจัดลำดับความสำคัญ เช่น โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, แร่ธาตุ, และวิตามิน เป็นต้น ในการพิจารณาเมื่อเกิดปัญหาในการผลิต อย่างไรก็ตามหากสุกรได้รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ หรือ คุณภาพน้ำที่ไม่ดีให้แก่สัตว์ อาจเป็นสัญญาณแรกของปัญหาสุขภาพ ดังนั้นการจัดการน้ำที่เพียงพอ รวมถึงคุณภาพของน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ และผลผลิตของสุกรระบบการเลี้ยงสุกร สัตว์จะต้องสามารถได้รับน้ำที่สะอาด และปลอดภัยตลอดเวลาจากนิปเปิ้ล, ถ้วยน้ำดื่ม หรือรางน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งคุณภาพน้ำที่ส่งผลต่อการผลิตสุกร ได้แก่ แร่ธาตุ ซัลเฟต ไนเตรต และไนไตรต์ที่มีความเข้มข้นสูง การปนเปื้อนของแบคทีเรีย การเจริญเติบโตของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และการปนเปื้อนทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณภาพน้ำยังขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา และสุขอนามัยที่ไม่ดีเมื่อจัดเก็บอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ ซึ่งคุณภาพของน้ำที่ใช้เลี้ยงสุกรภายในฟาร์ม มีค่ามาตรฐานดังตารางที่ 1, 2 และ3

วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำภายในฟาร์มเพื่อตรวจคุณภาพ

จุดเก็บตัวอย่างน้ำ ได้แก่ แหล่งน้ำใต้ดินก่อนเข้าถังหรือบ่อพัก, บ่อหรือถังพักน้ำ, และน้ำที่ออกจากอุปกรณ์ให้น้ำสุกร (นิปเปิ้ล) และก่อนเก็บตัวอย่างน้ำต้องเปิดน้ำไหลทิ้ง 2-3 นาที

1. เตรียมภาชนะในการเก็บน้ำตัวอย่าง: ใช้ขวดที่มีฝาปิด, สะอาด, และทำมาจากโพลีเอทธิลีน หรือโพลีโพรพิลีน)

-ตรวจจุลชีพในน้ำ: ขวดแก้วขนาดความจุ 500 มิลลิลิตร
-ตรวจลักษณะทางกายภาพ-เคมีในน้ำ: ขวดขนาดความจุ 2 ลิตร
-ตรวจลักษณะทางโลหะหนักในน้ำ: ขวดขนาดความจุ 1 ลิตร

2. การเก็บตัวอย่างน้ำ:

-ตรวจจุลชีพในน้ำ: ระหว่างการเก็บตัวอย่างน้ำควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสปากขวด บรรจุตัวอย่างน้ำ 4 ใน 5 ส่วนของภาชนะ จากนั้นปิดฝาขวดให้สนิทแล้วพันด้วยเทป จากนั้นบรรจุใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดให้แน่น
-ตรวจลักษณะทางกายภาพ-เคมีในน้ำ: ล้างภาชนะด้วยน้ำที่จะเก็บ 2–3 ครั้ง ก่อนจะเก็บตัวอย่าง เก็บน้ำจนเกือบเต็มขวด เหลือที่ว่างประมาณ 1 นิ้ว และปิดฝาให้สนิท
-ตรวจลักษณะทางโลหะหนักในน้ำ: ล้างภาชนะด้วยน้ำที่จะเก็บ 2–3 ครั้ง ก่อนจะเก็บตัวอย่าง เก็บน้ำจนเกือบเต็มขวด เหลือที่ว่างประมาณ 1 นิ้ว และปิดฝาให้สนิท

3. เขียนฉลากปิดภาชนะเก็บตัวอย่างน้ำ: ควรระบุชื่อฟาร์ม, ที่อยู่ฟาร์ม, ประเภทแหล่งน้ำ (น้ำบาดาล, น้ำผิวดิน หรือ น้ำประปา), จุดเก็บตัวอย่าง (น้ำก่อนเข้าถังหรือบ่อพัก, บ่อหรือถังพักน้ำ, และน้ำที่ออกจากอุปกรณ์ให้น้ำสุกร ), วันที่ และเวลาที่เก็บตัวอย่าง, และชื่อผู้เก็บตัวอย่าง

4. การเก็บรักษาสภาพตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจ

-ตรวจจุลชีพในน้ำ และตรวจลักษณะทางกายภาพ-เคมีในน้ำ: แช่เย็นที่ 4 – 10  ™C และส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
-ตรวจลักษณะทางโลหะหนักในน้ำ: เก็บที่อุณหภูมิห้อง และส่งตรวจภายใน 48 ชั่วโมง

ก่อนนำส่งห้องปฏิบัติการต้องผนึกหีบห่อตัวอย่างให้แน่นหนา ใส่ในกล่องส่งตัวอย่างที่มีการควบคุมอุณหภูมิ (กล่องโฟมใส่น้ำแข็ง) และป้องกันตัวอย่างจากแสงแดด ควรส่งตัวอย่างน้ำถึงห้องปฏิบัติการโดยเร็วภายในเวลาไม่เกิน 8 ชั่งโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ลักษณะอาการสุกรขาดน้ำ

FI ลดลง และแคระแกร็น
สุกรมีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย
สุกรมีอาการเซื่องซึม เดินเซ
อุจจาระ และปัสสาวะมีสีเข้ม

  สุกรต้องรักษาระดับของน้ำภายในร่างกายโดยการบริโภคน้ำที่ได้รับจากอาหาร หรือการดื่มน้ำ ซึ่งสุกรจะกินน้ำลดลงเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงกว่า 20  ™C และมีการบริโภคมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิของสภาพแวดล้อมในโรงเรือน หรือภายนอกโรงเรือนสูง ดังนั้นในสภาวะอุณหภูมิปกติสุกรจะมีความต้องการน้ำในการบริโภคในแต่ละวัน ดังตารางที่ 4 อย่างไรก็ตามการติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำต้องคำนึงถึงจำนวนของอุปกรณ์ให้น้ำ อัตราการไหลของน้ำ แรงดันน้ำ รวมทั้งความสูงในการติดตั้งที่เหมาะสม ดังตารางที่ 5

เอกสารอ้างอิง

1.กองห้องปฏิบัติการสาธารณสุขกรมอนามัย. แนวทางการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาและการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ. Retrieved 05 April 2023, from https://foodsan.anamai.moph.go.th/th/water-quality/download/?did=212100&id=101003&reload=.
2.ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการป้องกันด้านสาธารณะสุขและการป้องกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2551
3.วาสนา คงสุข. 2560. การสุ่มเก็บ การบรรจุ และการเก็บรักษาคุณภาพตัวอย่างน้ำบริโภค. Retrieved 05 April 2023, from https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER17/DRAWER002/GENERAL/DATA0000/00000178.PDF
4.สมโภชน์ ทับเจริญ. 2554. คุณภาพน้ำ คุณภาพชีวิต คุณภาพผลผลิต คุณภาพสุกร. วารสารปศุสัตว์เกษตรศาสตร์. 37(148): 12-18.
5.Brumm, M. 2010. National swine nutrition guide: water recommendations and systems for swine. . Retrieved 05 April 2023, from  https://porkgateway.org/resource/water-recommendations-and-systems-for-swine/.
6.Dawson, S. 2021. Department of Primary Industries and Regional Development's Agriculture and Food division is committed to growing and protecting WA's agriculture and food sector: Water: the forgotten nutrient for pigs. Retrieved 05 April 2023, from https://www.agric.wa.gov.au/water/water-forgotten-nutrient-pigs.
7.Selko, 2023. Benefits of water for animals. Retrieved 05 April 2023, from https://www.selko.com/en/content/general/water-solutions/?utm_source=linkedin&utm_campaign=%232024%2Cselko-pH%2CWorldwaterday%2CSelko&utm_medium=post&utm_content=1.

ดาวน์โหลดเอกสาร

น้ำ และการจัดการน้ำในฟาร์มสุกร ที่ไม่ควรมองข้าม!!
ดาวน์โหลด