Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

2024-01-04

วิธีการผสมเทียมแม่สุกร (Artificial Insemination in Swine)

        ในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มักจะใช้วิธีการผสมเทียมแม่สุกรมากกว่าการผสมแบบธรรมชาติ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก และรวดเร็ว ช่วยทำให้ยีนดีจากพ่อพันธุ์แพร่กระจายได้เร็ว น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่ดี 1 ตัวสามารถผสมแม่สุกรได้ 8-10 ตัว ช่วยแก้ปัญหาในด้านการผสมพันธุ์ เช่น ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ (Low fertility) ความไม่อยากผสมพันธุ์ (Low libido) หรือปัญหาเรื่องขาเสีย ขาอ่อน ขนาดของพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่วิธีในการผสมเทียมต้องมีข้อระมัดระวัง คือ การผสมเทียมหากมีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือขาดการรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ และที่สำคัญอาจจะส่งผลทำให้อัตราการผสมติดลดลงอีกด้วย

การผสมสุกรแม่พันธุ์   สามารถผสมเทียมสุกรแม่พันธุ์ มีหลักการในการผสม ดังนี้

  • แม่สุกรสาว ควรผสมทันทีที่พบการเป็นสัด และทำการผสมซ้ำหลังจากผสมรอบแรก 12 ชั่วโมง 
  • แม่สุกรนาง ควรผสมครั้งแรกหลักจากตรวจพบอาการเป็นสัด (ยืนนิ่ง) แล้ว 12 ชั่วโมง จากนั้นจึงผสมซ้ำหลังจากผสมรอบแรก 12 ชั่วโมง 

การตรวจการเป็นสัด 

        ใช้พ่อพันธุ์ที่มีความคึกดี ตรวจ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเมื่อใช้น้ำหนักกดทับบริเวณหลัง และสะโพกสุกรจะแสดงอาการยืนนิ่ง แม่สุกรที่เป็นสัดจะแสดงอาการกระวนกระวายไม่นอน, กินอาหารลดลง, พยายามปีนขี่สุกรตัวข้างเคียง, อวัยวะเพศบวมแดงมีน้ำเมือกหล่อลื่นช่องคลอด (ดังแสดงในภาพที่ 1)

ขั้นตอนการผสมเทียม

  1. การผสมเทียมเริ่มโดยการทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอดด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ (ดังแสดงในภาพที่ 2)
  2. สอดท่อผสมเทียมเข้าไปเอียงทำมุม 45 องศากับแนวนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อผสมเทียมเข้าไปในท่อปัสสาวะ ซึ่งการสอดท่อผสมเทียมจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา เพื่อให้เกลี่ยวของท่อผสมเทียมเข้าไปล็อคอยู่ที่บริเวณคอมดลูก (ดังแสดงในภาพที่ 3)
  3. ลองดึงออกเบาๆ จะรู้สึกว่าติดหนึบ ๆ แสดงว่าท่อผสมเทียมล็อคที่บริเวณคอมดลูกแล้ว หลังจากนั้นต่อหลอดน้ำเชื้อเข้ากับปลายท่อผสมเทียม ระยะเวลาที่ปล่อยน้ำเชื้อให้หมดใช้ระยะเวลา 3-5 นาที (ดังแสดงในภาพที่ 4)
  4. ปล่อยให้น้ำเชื้อถูกดูดเข้าร่วมกับการกระตุ้นแม่สุกรในขณะผสมเทียม เช่น ใช้พ่อสุกรมายืนอยู่ด้านหน้ากรงของแม่สุกร เพื่อให้แม่สุกรได้กลิ่น ได้เห็น และได้ยินเสียงของพ่อสุกร จะทำให้แม่สุกรยืนนิ่ง และหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซิน (Oxytocin) ออกมาเพื่อทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัวดูดเอาน้ำเชื้อเข้าไปยังมดลูก
  5. อาจจะมีการใช้กระสอบบรรจุทรายหนัก 10-15 กก. วางทับหลังแม่สุกรขณะผสม หรือให้คนขึ้นนั่งขณะผสม และควรใช้มือลูบที่บริเวณสีข้าง หรือราวนมไปมาช้า ๆ เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก หลังจากน้ำเชื้อหมดหลอดให้คาท่อผสมเทียมไว้ 10-15 นาที แล้วค่อยดึงออก
อ่านต่อ





2023-12-28

สภาวะกรดในกระเพาะรูเมน (Acidosis) ที่ไม่ควรมองข้าม

           เชื่อว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังประสบปัญหาโคมีสภาวะกระเพาะรูเมนเป็นกรด หรือที่เรียกว่า สภาวะ Acidosis บางฟาร์มสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที แต่บางฟาร์มก็สายเกินแก้ไข ส่งผลต่อสุขภาพของแม่โค แน่นอนว่าส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง แต่สภาวะดังกล่าวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ ถ้าเกษตรผู้เลี้ยงโคนมมีความเข้าใจหลักการของการเกิดสภาวะ Acidosis

กรดในกระเพาะรูเมน (Acidosis) เป็นภาวะที่มีกรดในกระเพาะรูเมนสูง โดยมีอยู่ 2 แบบ ดังนี้ 

  1. สภาวะกรดในกระเพาะรูเมนแบบเฉียบพลัน (Acute Ruminal Acidosis: ARA) ซึ่งทำให้สัตว์แสดงอาการทางคลินิกได้อย่างชัดเจน เช่น หยุดกินอาหาร ท้องอืด ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วผิดปกติ ถ่ายเหลว ซึม กระสับกระส่าย ล้มลงนอน และตายในที่สุด (Oetzel, 2015)
  2. สภาวะกรดในกระเพาะรูเมนแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Ruminal Acidosis: SARA) ซึ่งโคมักจะมีอาการแบบกึ่งเฉียบพลัน โดยจะไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ พบเพียงการกินได้และมีผลผลิตลดลง เท่านั้น (Abdela, 2016) 

สาเหตุ

  • รูปแบบและสัดส่วนปริมาณการให้อาหารอาหารข้น อาหารข้นประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยสลายง่ายในกระเพาะรูเมน โดยเฉพาะแป้งและน้ำตาล เกษตรกรมักให้ในขณะรีดนม แยกกับอาหารหยาบ ส่งผลทำให้เกิดการหมักย่อยได้อย่างรวดเร็วโดยจุลินทรีย์กลุ่มย่อยแป้ง (amylolytic bacteria) ทำให้กรดในกระเพาะรูเมนเพิ่มขึ้น ค่าความเป็นกรดด่างภายในกระเพาะรูเมนลดลง จึงเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสภาวะ acidosis (Chaucheyras-Durand et al., 2008)
  • อาหารหยาบสับย่อยมีขนาดสั้นกว่า 2-3 นิ้ว จะทำให้เกิดกรดได้ง่าย เนื่องจากอาหารหยาบที่สั้นเกินไปจะผ่านกระเพาะหมักอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารหยาบที่มีขนาดยาวกว่า 2 นิ้วจะสามารถทำให้โคเคี้ยวเอื้องแล้วเกิดน้ำลายเป็น buffer ช่วยปรับความเป็นกรดในกระเพาะรูเมนได้
  • การเติมไขมัน ลงในอาหารก็มีผลทำให้เกิดกรดในกระเพาะรูเมนได้เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นไขมันและน้ำมันบางชนิดจะลดการย่อยได้ของเยื่อใยโดยทำลายแบคทีเรียที่ย่อยเยื่อใย หรือไปเคลือบเยื่อใยไว้ ยากต่อการที่จุลินทรีย์จะเข้าไปย่อย

อาการ

  • ท้องเสียคะแนนมูล 1-2 (ดังแสดงในภาพที่ 1)
  • ซึม เบื่ออาหาร
  • ปริมาณการกินลดลง 
  • โคท้องอืด
  • โคเจ็บกีบ คะแนนการเดินมากกว่า 2 (ดังแสดงในภาพการประเมินอาการเบื้องต้นจากลักษณะมูล)
  • อ่อนเพลียและตายในที่สุด บางตัวอาหารหนักอาจตายภายใน 24 ชั่วโมง
  • องค์ประกอบน้ำนม (ไขมันนม โปรตีนนม แลคโตสในน้ำนม ฯลฯ) ลดลงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

การป้องกัน

  1. ให้อาหารหยาบ:อาหารข้นในปริมาณที่เหมาะสม (ดังแสดงในตารางที่ 1)

                   >30:70 (โคคลอดใหม่ หรือโคที่ให้นม >20 กก./ตัว/วัน)
                   >35:65 (โคระยะกลางให้นม หรือโคที่ให้นม 15-20 กก./ตัว/วัน)
                   >40:60 (โคนมระยะท้าย หรือโคที่ให้นม <15 กก./ตัว/วัน) 
       2. เพิ่มจำนวนการให้อาหารข้นออกเป็น 3 - 4 มื้อต่อวัน 
       3. ให้อาหารหยาบปูรองพื้น แล้ว Top อาหารข้นไว้ด้านบนในขณะรีดนม หรือเปลี่ยนมาให้อาหารในรูปแบบ TMR

อ่านต่อ





2024-01-20

แสงต่อการผลิตสัตว์ปีก

          แสงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและส่งผลต่อด้านการให้ผลผลิตของสัตว์ปีก สัตว์ปีกมองเห็นและรับรู้แสงได้ต่างกัน อีกทั้งแสงยังมีผลต่อสวัสดิภาพของสัตว์และการให้ผลผลิต โดยทั้งสองอย่างนี้อมีความเกี่ยวข้องกับอิทธิพลจากแสง ในระบบโรงเรือนสัตว์ปีก แสงส่งผลต่อพฤติกรรม การเจริญเติบโต สุขภาพ ประสิทธิภาพการผลิต การสืบพันธุ์ และสวัสดิภาพของสัตว์ปีก ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับแสงต่อสัตว์ปีก เช่น แหล่งกำเนิดแสง ระดับความเข้ม ระยะเวลา (ช่วงแสง) และสี (ความยาวคลื่น) ดังนั้นแสงในระบบโรงเรือนสัตว์ปีกจึงมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสวัสดิภาพของสัตว์ (Lewis and Morris, 1998; Wineland, 2002)
          สัตว์ปีกมีความไวเชิงสเปกตรัม (spectral sensitivity) มากกว่าของมนุษย์ และสัตว์ปีกสามารถเห็นแสงสเปกตรัม UV ซึ่งแสง UV ประกอบด้วยความยาวคลื่นที่สั้นกว่า (100–400 นาโนเมตร) การรับรู้ภาพของเลนส์ตาของสัตว์ปีกต่อรังสีระหว่าง 320 และ 400 นาโนเมตร ช่วยให้พวกมันมองเห็นแสง UVA (Govardovskii and Zueva, 1977; Hart et al., 1999; Hunt et al., 2009) สเปกตรัมรังสี UVA ที่รับรู้จากเรตินาในสัตว์ปีกยังถูกส่งไปยัง ต่อมไพเนียล (Pineal gland) ที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Rosiak and Zawilska, 2005)
 

อ่านต่อ





2024-01-20

การจัดการความเครียดที่เกิดจากความร้อนในแม่สุกร

          ปัญหาสภาวะอากาศร้อนส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ เป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น ระยะการหย่านม-ผสมนานขึ้น อัตราการคลอดลดลง และขนาดครอกลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักมีผลมาจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน (Heat stress) โดยความร้อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

          ความร้อนจากภายนอกร่างกาย  คือ ความร้อนจากสภาพอากาศ หรือความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกแพร่เข้ามาภายในโรงเรือน ทำให้แพร่รังสีความร้อนเข้าสะสมในตัวหมู
          ความร้อนจากภายในร่างกาย  คือ ความร้อนจากการเผาผลาญสารอาหารในกระบวนการเมแทบอลิซึม
ภายในร่างกาย เพื่อให้ได้เป็นพลังงานในแม่สุกร ก่อให้เกิดความร้อนภายในร่างกายได้ และหากแม่สุกรกินอาหารมากจนเกินไปอาจจะก่อให้เกิดความร้อนสูงภายในร่างกาย และส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้ นอกจากนี้การเผาผลาญสารอาหารในลูกสุกรภายในท้องยิ่งแม่สุกรใกล้คลอดลูกสุกรก็จะต้องการสารอาหารมากขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ความร้อนจากการเมทาบอลิซึมสูงขึ้นตามไปด้วย โดยความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวลูกสุกรจะถูกถ่ายทอดมายังตัวแม่สุกร เพื่อขับออก ทำให้แม่สุกรมีอาการหอบ 

         ซึ่งความร้อนที่เกิดจากภายนอก และภายในร่างกายของแม่สุกร เมื่อมีการสะสมมากๆในร่างกาย จะส่งผล
ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ทำให้แม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ส่งผลเสียต่อ
การผลผลิตในแม่สุกรได้ ดังนี้

แม่สุกรช่วงก่อนผสม

  • แม่สุกรไม่เป็นสัดหลังหย่านม มีอาการเป็นสัดแต่ไม่แสดงอาการ ระยะการเป็นสัดสั้นลง เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน
  • ระยะหย่านม-ผสมนานขึ้น เนื่องจากการทำงานของรังไข่ลดลง
  • วงรอบการเป็นสัดนานขึ้น อัตราการตกไข่ลดลง เป็นผลมาจากการกินอาหารของแม่สุกรลดลง

แม่สุกรช่วงหลังจากผสม

  • ระยะแรกของการอุ้มท้อง หากแม่สุกรมีความเครียดในช่วง 1-2 วัน จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการผสมลดลง ทำให้ตัวอ่อนตายหลังผสมเพิ่มขึ้น
  • ระยะผสม-อุ้มท้อง 8 วัน และระยะฝังตัวของตัวอ่อน (9-16 วัน) หากแม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อนจะส่งผลทำให้เกิดการแท้ง แม่สุกรกลับสัดหลังจากผสม และมีการแสดงอาการเป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น (Silent heat)
  • ช่วงระยะกลางของการอุ้มท้อง (หลังจากผสม 3 สัปดาห์ - 3เดือน) แม่สุกรจะมีความทนทานต่อความเครียด แต่ความร้อนที่สูงอาจจะยังส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้เช่นกัน
  • ระยะท้ายของการอุ้มท้อง (2 สัปดาห์ก่อนคลอด) ลูกสุกรมีโอกาสตายก่อนคลอดได้ เนื่องจากสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ลูกสุกรมีน้ำหนักแรกคลอด และน้ำหนักคลอดลดลง และความร้อนยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่สุกรลดลงอีกด้วย 
  • ระยะเลี้ยงลูก แม่สุกรที่ได้รับความเครียดจากความร้อนอาจต้องมีการใช้ระยะเวลาในการคลอดนาน มีผลทำให้อัตราการตายหลังคลอดสูงขึ้น แม่สุกรผลิตน้ำนมได้ลดลง และยังส่งผลทำให้การกินอาหารของแม่สุกรลดลง
อ่านต่อ





2024-01-20

เลี้ยงโคนมอย่างไรให้ปลอดภัย จากสภาวะเครียดจากความร้อน

      อากาศร้อนมีผลต่อโค คือ ก่อให้เกิดความเครียด (Heat Stress) ปกติโคนมมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 38.3 – 39.1 ๐C โดยประมาณ แต่ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ อุณหภูมิและความชื้นของอากาศรอบๆ ตัวสัตว์ ดังนั้นจึงใช้ค่าดัชนีอุณหภูมิและความชื้น (Temperature-Humidity Index, THI) เป็นค่าที่ทำนายว่าโคเกิดความเครียดเนื่องจากความร้อน ซึ่งค่านี้สามารถคำนวณได้ จากสมการ (Wiersma, 1990) 

 

THI = (dry bulb temperature; oC) + (0.36 dew point temp; oC) + 41.2  (Wiersma, 1990) 

 

ระดับที่บ่งบอกภาวะ Heat Stress 

  • THI ระหว่าง 72 – 78 โคนมจะอยู่ในสภาพเครียดเล็กน้อย (Mild stress)
  • THI อยู่ระหว่าง 79 – 89 โคจะเครียดปานกลาง (Moderate)
  • THI ระหว่าง 89 – 99 โคจะอยู่ในสภาพเครียดจัด (Severe stress)
  • THI มากกว่า 99 โคจะตายเนื่องจากความเครียดจากความร้อน

ความร้อนในโคนมเกิดจากอะไรบ้าง ?

  • เกิดจากแสงแดดในฤดูร้อน อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นทุกปี ประเทศไทยอุณหภูมิสูงสุดจะสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส
  • ความร้อนเนื่องจากกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ในร่างกายสัตว์
  • เกิดจากการให้ผลผลิตน้ำนมทุกๆ 0.45 kg ที่แม่โคผลิตได้ จะมีการผลิตความร้อนภายในร่างกายถึง 10 kcl/hr.
  • แม่โคที่ให้น้ำนมสูง (>16 kg/d) จะกินอาหารในปริมาณมากกว่าปกติเพื่อให้สารอาหารเพียงพอที่จะนำไปใช้ผลิตน้ำนม จึงเกิดความร้อนในตัวแม่โคให้นมสูงมากกว่าแม่โคที่ให้น้ำนมน้อย (<10 kg/d) หรือปานกลาง (11-15 kg/d)

ผลกระทบจาก Heat Stress 

  • สภาวะเครียดโคจะเคี้ยวเอื้องลดลง หายใจหอบ (>40 ครั้ง/นาที) หายใจโดยใช้ปาก น้ำลายไหลทำให้สูญเสียน้ำลายมากกว่าสภาวะปกติ ส่งผลให้ Buffer ในกระเพาะรูเมนไม่เพียงพอ
  • เกิดสภาวะ acidosis จุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมนมีการเปลี่ยนแปลง
  • ปริมาณการกินลดลงเมื่อเทียบกับโคที่อยู่ในสภาวะปกติ
  • ปริมาณผลผลิตน้ำนมลดลง และองค์ประกอบน้ำนมไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 
  • ความสมบูรณ์ของร่างกายแม่โค และน้ำหนักของลูกโคจะต่ำกว่าสภาวะปกติ 
  • ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ โคแสดงอาการเป็นสัดลดลง อัตราการผสมติดของแม่โคในช่วงฤดูร้อนค่อนข้างต่ำกว่าช่วงฤดูอื่นๆ เนื่องจากสารอาหารไม่เพียงพอต่อระบบสืบพันธุ์ อุณหภูมิภายในมดลูกสูงกว่าปกติไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน เกิดโอกาสการตายของตัวอ่อนในระยะแรก

          หลายงานวิจัย กล่าวว่า Heat Stress ส่งผลกระทบด้านลบต่อการผลิตโคนมทั้งด้านระบบสืบพันธุ์ ด้านการให้ผลผลิต รวมถึงการทํางานของต่อมน้ำนม (Rhoads et al., 2009) พบว่าปริมาณโปรตีนนมมีการตอบสนองต่อสภาวะเครียดจากความร้อนมากกว่าปริมาณน้ำนม (Barash et al. 2001) และเมื่อระดับของค่า THI เพิ่มขึ้น โคนมลูกผสมที่มีระดับสายเลือดของโฮลสไตน์ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 93.7% จะได้รับอิทธิพลสภาวะเครียดจากความร้อนมากที่สุด (กนกกาญจน์ และคณะ 2556) มีการศึกษาว่าสายเลือดโฮลสไตน์ 87.5%-93.7% สามารถเลี้ยงในสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ แต่ต้องมีการจัดการอาหารที่ดี และการระบายความร้อนให้แก่แม่โคที่ถูกต้อง (สมสุข และคณะ 2555)

 

การป้องกันไม่ให้โคเกิดสภาวะเครียดจากความร้อน
          การลดอุณหภูมิในตัวโค

  • พ่นสเปรย์น้ำให้โคขณะรีดนม ระยะเวลา 30-60 วินาที/ครั้ง จะช่วยให้ผิวหนังโคเปียกชุ่ม
  • การติดตั้งพัดลมภายในโรงเรือนหากเป็นโรงเรือนปล่อยให้เปิดพัดลมให้โคขณะรีดนม พัดลมจะช่วยพาความร้อนส่วนหนึ่งออกจากตัวโค ทำให้โครู้สึกสบาย และผ่อนคลายในขณะให้ผลผลิต
  • จัดหาร่มเงาให้โคสำหรับโคที่เลี้ยงปล่อย

          การจัดการน้ำและการให้อาหาร

  • มีที่ให้น้ำสะอาดไว้ในที่ร่มให้เพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำดื่มของโคนมสัมพันธ์กับปริมาณน้ำนมและอุณหภูมิ การขาดน้ำดื่มจะส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตน้ำนมในฤดูร้อน ปริมาณการใช้น้ำของโคที่ให้นมมากถึง 5 เท่าของปริมาณการให้นม ซึ่งไม่เพียงแต่รับประกันการผลิตน้ำนมเท่านั้น แต่ยังเพิ่มการขับถ่ายของวัว ขจัดความร้อนส่วนเกินในร่างกาย และรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ
  • จัดการช่วงเวลาในการให้อาหาร ในช่วงอากาศเย็น เช่น เช้ามืดหรือเย็น แบ่งมื้อการให้อาหาร 3-5 มื้อต่อวัน
  • เพิ่มความเข้มข้นของโภชนะในอาหาร ให้อาหารหยาบคุณภาพดีเพื่อชดเชยปริมาณการกินได้ที่ลดลง
  • ให้คาร์โบไฮเดรตและไขมัน เช่น เสริม bypass fat และหรือ กากมัน เป็นต้น
  • ลดอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนและกรดอะมิโน
  • ให้อาหาร TMR ไม่ให้โคเลือกกิน ได้โภชนะครบถ้วน
อ่านต่อ





2024-01-20

การใช้เอนไซม์ในอาหารสัตว์

          เอนไซม์ (enzyme) เป็นโปรตีนที่สามารถเร่งปฏิกิริยาเคมีซึ่งถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด การใช้งานเอนไซม์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความหลากหลาย ความจำเพาะต่อสารตั้งต้นและความสามารถในการเร่งปฏิกิริยา เอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ขนมปัง เนยแข็ง น้ำผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ในอาหารปศุสัตว์ถูกจำกัดจนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1980 อุตสาหกรรมสัตว์ปีกเป็นอุตสาหกรรมแรกที่สนใจนำเอนไซม์มาใช้งานและในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการนำไปใช้ในอาหารสัตว์จนมีการเติบโตมากขึ้นโดยมีมูลค่าการค้าประมาณ 1,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 (Velázquez-De Lucio, et al., 2021)


     
          เอนไซม์ที่ใช้เติมแต่งในอาหารสัตว์ถือเป็นสารเติมแต่งที่ช่วยปรับปรุงความสม่ำเสมอและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ เพิ่มการย่อยได้ พัฒนาการของสัตว์และลดผลกระทบสารต้านโภชนะ (antinutrients) รักษาสุขภาพของลำไส้ นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคในกระบวนการย่อยอาหารได้อีกด้วย การใช้เอนไซม์อาจใช้เตรียมแยกหรือเตรียมแบบผสม (Multienzyme) สำหรับการเจริญทุกระยะของสัตว์เคี้ยวเอื้องและที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Velázquez-De Lucio, et al., 2021)

           หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์   (Robinson, 2015)    
เอนไซม์ทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้น (Substrate) โดยทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้นที่บริเวณก่อกัมมันต์ (active site) ที่มีรูปร่างคล้ายสารตั้งต้นทำให้ทำปฏิกิริยากันได้ ส่งผลให้เอนไซม์แต่ละชนิดมีความจำเพาะกับสารตั้งต้นแต่ละตัว 
          •    ทฤษฎีแม่กุญแจและลูกกุญแจ (Lock and key Theory) เสนอโดย Emil Fischer คือ เมื่อเอนไซม์รวมตัวกับสารตั้งต้นซึ่งอาจจับกันด้วยพันธะไฮโดรเจน หรือ พันธะไอออนิก หรือ พันธะโคเวเลนท์บริเวณก่อกัมมันต์กลายเป็นเอนไซม์ซับสเตรตเชิงซ้อน (enzyme substrate complex) ภายหลังจากทำปฏิกิริยาให้ผลิตภัณฑ์ (product) ออกมาและเอนไซม์เชิงซ้อนแยกออกมาได้เอนไซม์อิสระกลับคืนมา สมการปฏิกิริยาของเอนไซม์และสารตั้งต้นจะเป็นสมการที่ย้อนกลับ 

          •    ทฤษฎีเหนี่ยวนำให้เหมาะสม (Induced-fit Theory) เสนอโดย Koshland คือ เมื่อสารตั้งต้นจับกับเอนไซม์ที่บริเวณเร่งของเอนไซม์เหนี่ยวนำให้เอนไซม์เปลี่ยนรูปให้จับกับสารตั้งต้นและเกิดปฏิกิริยาได้ดีขึ้น สารที่ไม่ใช่สารตั้งต้นแต่มีรูปร่างคล้ายสามารถเข้าจับบริเวณเร่งของเอนไซม์ได้แต่ไม่สามารถชักนำให้อ็นไซม์เปลี่ยนโครงรูปให้เหมาะสมได้ ทำให้ไม่เกิดปฏิกิริยาและไม่ได้ผลผลิตออกมา

อ่านต่อ





2024-01-22

เทคนิคเลี้ยงปลาในฤดูหนาว

          ในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว อากาศจะมีความแปรปรวนไม่แน่นอน และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิน้ำจะลดต่ำลง เป็นปัจจัยโน้มนำและกระตุ้นให้ปลาเกิดความเครียด เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นอุณหภูมิภายในร่างกายของปลาจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมภายนอก หากปลาไม่สามารถปรับร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน จะส่งผลทำให้ปลามีความเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงระบบการเผาผลาญพลังงานของปลาจะลดต่ำลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของปลา


วิธีแก้ไข ในช่วงรอยต่อจากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว 
          1. การควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม เช่น หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน อากาศร้อนสลับเย็น อากาศหนาว ควรงดหรือลดปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดของเสียจากการที่ปลาไม่กินอาหาร
          2. การทำให้น้ำในบ่อ หรือน้ำในกระชัง เคลื่อนไหว เนื่องจากฝนตกทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ถ้ามีการทำให้น้ำเคลื่อนไหวโดยการปั่นน้ำหรือตีน้ำ ก็จะทำให้เพิ่มออกซิเจนในน้ำได้
          3. การใส่เกลือแกง โดยสามารถแก้สภาพความเป็นกรดของน้ำได้ และช่วยทำให้ปลาหายเครียด
          4. การโรยปูนมาร์ล เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำหลังจากฝนตก (ฝนตกทำให้น้ำมีค่าเป็นกรด) สามารถทำให้ค่าน้ำกลับมาอยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาได้


การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ พีเอชของน้ำ
          1. พีเอชต่ำ (pH น้อยกว่า 6) อาจเกิดจากฝนตกทำให้น้ำเป็นมีค่าเป็นกรด หรือเกิดจากการมีก๊าซไข่เน่า หรือการปนเปื้อนของโลหะหนัก เป็นต้น
          กรณีเตรียมบ่อ ใช้ปูนมาร์ล หรือปูนโดโลไมท์ 150-200 กก./ไร่ หว่านทั่วพื้นบ่อที่ชื้น หรือมีน้ำชุ่ม
          กรณีควบคุมคุณภาพในระหว่างการเลี้ยงปลา ใช้ปูนมาร์ล 15-20 กก./ไร่ โดยผสมกับน้ำกวนให้เข้ากัน รอ 10-15 นาที แล้วสาดทั่วบ่อในเวลากลางคืน
          2. พีเอชสูงเกินไป (pH มากกว่า 9) เกิดจากพืชหรือแพลงค์ตอนพืช (น้ำเขียวมาก) ในบ่อมากเกินไป 
          แก้ไข ใช้ปูนยิปซั่ม หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต 15-20 กก./ไร่ โดยผสมกับน้ำ


 

อ่านต่อ