Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

2024-01-22

เทคนิคเลี้ยงปลาในฤดูร้อน

          ถ้ากล่าวถึงฤดูร้อน เราจะนึกถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าว แสงแดดที่แผดเผา ไอร้อนจากผิวดินและผิวน้ำ เหงื่อที่ไหลริน ดังนั้นผู้คนในเมืองกรุงจึงเข้าไปเบียดเสียดในห้างสรรพสินค้า และทำกิจกรรมที่ไม่หนักมากนัก สัตว์น้ำจำพวกปลาก็เช่นกัน เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำที่มีพื้นที่จำกัด อุณหภูมิที่สูงขึ้น แออัดไปด้วยจำนวนปลา จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวบางอย่างทั้งในตัวปลา และการช่วยจากผู้เลี้ยงปลา เพื่อให้ปลาสามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างปกติ


          ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นต่างจากร่างกายมนุษย์ที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นโดยที่อุณหภูมิในร่างกายปลาจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิในแหล่งน้ำที่อาศัย ปลาที่เลี้ยงเชิงธุรกิจในประเทศไทยจะเป็นปลาอาศัยในเขตร้อน เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาเหล่านี้คือ 25-30 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนจะมีปัจจัยที่ทำให้ปลาต้องมีการปรับตัว ดังนี้

 

  • อุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจะมีกระบวนการเมทาบอลิซึม(metabolism) สูงขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าสภาวะที่เหมาะสม ปลาจะเกิดความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นในน้ำ ทำให้ปลาต้องปรับสมดุลทางสรีระร่างกายโดยการลดกระบวนการเมทาบอลิซึมในร่างกาย เช่น ว่ายน้ำน้อยลง กินอาหารน้อยลง จนท้ายที่สุดปลาอาจจะต้องหยุดทำกิจกรรมหรือเกิดการตาย นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงเกินกว่าสภาวะที่เหมาะสมมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลาวัยอ่อนที่ยังปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปลาที่โตเต็มวัยแล้ว 
  • ก๊าซออกซิเจน (O2) เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (dissolved oxygen, DO) จะลดลง มีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องการใช้ก๊าซออกซิเจนในการดำรงชีวิตในน้ำ เช่น ปลา แพลงก์ตอน สาหร่าย พืชน้ำ จุลินทรีย์ที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค เป็นต้น ทำให้ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำได้ลดลง ทำให้ปลาเกิดการขาดก๊าซออกซิเจน และตายได้
  • ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นปลาจะมีกระบวนการเมทาบอลิซึม ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น และกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายที่เกิดขึ้นจะมีการปล่อยของเสียในรูปของสารละลายแอมโมเนียมไอออน (NH4+) ลงในแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีผลทำให้คุณภาพน้ำลดลง และทำให้ปลาเกิดความเครียดจากก๊าซแอมโมเนีย นอกจากนี้แพลงก์ตอนพืช และพืชน้ำ จะนำแอมโมเนียที่อยู่ในน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำมีจำนวนมากขึ้น จะมีการใช้ก๊าซออกซิเจนร่วมกันกับปลาที่เลี้ยง ซึ่งจะมีผลทำให้ปลา แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และพืชน้ำเกิดการขาดออกซิเจนในช่วงเวลากลางคืน และอาจเกิดปลาตายในน้ำ เนื่องจากแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำช่วงเวลากลางคืน

          สิ่งที่ผู้เลี้ยงปลาควรระวังและปรับวิธีการเลี้ยงในฤดูร้อน มี 3 ข้อหลัก ดังนี้

  1. จำนวนปลาที่ปล่อยเลี้ยงลงในบ่อหรือกระชัง ควรลดจำนวนลง 10 – 20% ของปริมาณที่ปล่อยในช่วงปกติ เพื่อให้ปลาอยู่โดยไม่แออัด ลดการแย่งก๊าซออกซิเจนในน้ำ และปล่อยของเสียในน้ำน้อยลง 
  2. ปริมาณอาหารที่ให้ควรลดลง 20 - 50% ของปริมาณที่ให้ในแต่ละวัน ถ้าอุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 32 – 34 องศาเซลเซียส
  3. ออกซิเจนที่ละลายน้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวันที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และ/หรือเปิดเครื่องตีน้ำช่วงกลางคืนถ้าเลี้ยงปลาจำนวนหนาแน่นสูง
อ่านต่อ





2024-01-23

การเตรียมลักษณะน้ำก่อนปล่อยกุ้ง

          บทเรียนจากความผิดพลาดจากการเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ปี 2554 ได้มาตลอด จนประสบปัญหาจากการเลี้ยงเมื่อปี 2557 จากที่ปล่อยกุ้ง 120,000 ตัว/ไร่ เลี้ยงกุ้งได้ประมาณ 40 วัน เจอปัญหากุ้งป่วย ร่วงระหว่างการเลี้ยง สาเหตุมาจากลักษณะน้ำเปลี่ยนแปลงมาก เช่น ค่า pH ช่วงเช้า และ บ่าย ค่อนข้างแตกต่างกันมาก 
บวกกับให้อาหารกุ้งมาก เพราะเห็นว่ากินดี พยายามแก้ค่า pH ให้ลดลง ก็ยังไม่ได้ แถมกุ้งยังร่วง ป่วยไม่หยุด จึงได้ตัดสินใจปล่อยปลานิลหมันขนาด 10 ตัว/กก. ลงไปประมาณ 5,000 ตัว ในบ่อที่กุ้งป่วย เพื่อตั้งใจจะเลี้ยงปลาขาย ให้ขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้งน้อยที่สุด

 

สิ่งที่ได้จากการปล่อยปลาลงบ่อ
          1. ลักษณะน้ำเริ่มได้อย่างที่ต้องการ
          2. กุ้งหยุดร่วงหลังจากปล่อยปลาไป 7-10 วัน
          3. กินเริ่มกินอาหารดีขึ้น
          4. ประเมินอัตรารอด จากการกินอาหารของกุ้ง จาก 25 กิโลกรัม ที่อายุ 40 วัน เพิ่มเป็น 130 กิโลกรัม ที่อายุ 115 วัน

          เมื่อได้แนวทางการแก้ไขความผิดพลาดที่กุ้งป่วย ด้วยการปล่อยปลา จึงกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้ลักษณะน้ำก่อนปล่อยกุ้งให้เหมือนน้ำในบ่อปลา เพราะจากการสังเกตุจาก น้ำในบ่อปลาไม่เคยดร๊อบ สีน้ำไม่เคยล้ม จะออกนัวๆตลอดระยะการเลี้ยง

แนวความคิดที่ได้จากลักษณะน้ำที่ได้
          - ปลาตีแปลงหรือตีหลุม(หลักการลากโซ่)
          - ปลาช่วยกรองแพลงค์ตอน 
          - จุลินทรีย์หลายหลายที่ได้จากขี้ปลา
          - เป็นปุ๋ยให้แพลงค์ตอน

แนวทางการทำลักษณะน้ำก่อนปล่อย
          1. ฉีดเลนเอาออกบางส่วน เพื่อกระจายเลน
          2. วัดพีเอชดินแล้วทำการหว่านปูน
          3. กรองน้ำเข้าบ่อ ในระดับความลึก 80-100 ซม.
          4. หมักสารอินทรีย์ เช่นปลาป่น, รำ, ฮิวมัส, แป้งมัน, กากน้ำตาล, EM เพื่อทำลักษณะน้ำให้มีชีวิต

สูตรการหมักฮิวมัส (ขนาดถัง : 200 ลิตร)
          1. ฮิวมัสจากไก่ไข่     10     กิโลกรัม
          2. EM (ขยายแล้ว)     3      ลิตร
          3. กากน้ำตาล            2     กิโลกรัม
หมัก 4-5 วัน ปิดฝาถัง คนทุก เช้า - เย็น


สูตรขยาย EM (ให้อ๊อกซิเจน 24 ชั่วโมง)
          1. น้ำจืด                 200     ลิตร
          2. หัวเชื่อ EM             5     ลิตร
          3. กากน้ำตาล             5     กิโลกรัม
          4. ปุ๋ยเคมี 46-0-0        1     กิโลกรัม


          ลงของหมัก ในช่วงการเตรียมน้ำ 10-15 วัน แล้วจากนั้นลากโซ่ ทุกวัน ลักษณะน้ำที่ได้จะมี ความขุ่นใส ช่วงฤดูฝน ควบคุมความขุ่นใสที่ 30-35 เซนติเมตร ส่วนช่วงฤดูร้อน ควบคุมความขุ่นใสที่ 40-45 เซนติเมตร ลักษณะน้ำที่ได้ จะพร้อมปล่อยกุ้ง เมื่อกุ้งที่ปล่อย เริ่มเชคยอออก เริ่มปล่อยปลาขนาดเท่าใบมะขาม ที่กุ้งอายุประมาณ 15-25 วัน โดยถ้าความเค็มต่ำกว่า 15 ppt ใช้ปลานิลหมัน 100-200 ตัว/ไร่ แต่ถ้าความเค็มเกิน 15 ppt ใช้ลูกปลาหมอเทศ 50 ตัว/ไร่
 

อ่านต่อ





กลุ่มอาการขี้ขาว
          พบในลูกกุ้งที่ ติด EHP อยู่ก่อนแล้ว เกิดการอับเสบของตับและลำไส้ เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเกิดขี้ขาว กินอาหารลด กุ้งเริ่มผอม ตับเริ่มซีด อ่อนแอ เบื่ออาหาร ลอกคราบ มักเจอกุ้งร่วง ทำให้กุ้งสูญเสียความสามารถในการย่อยอาหาร แล้วอาหารที่ตกค้างลำไส้ ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะแบคทีเรียกลุ่ม Vibrio Vulnificus และ Vibrio alginolyticus ถ้าเจอในลูกกุ้งชุดนั้นๆ ประมาณ 102-103 มีโอกาสเจอกลุ่มอาการขี้ขาวสูง โดยเชื้อพวกนี้จะแฝงตัวอยู่ในอาร์ทีเมีย
          Vibrio Vulnificus และ Vibrio alginolyticus พบว่าบ่อที่เจอ เชื้อ 2 ตัวนี้สูงมีโอกาสเกิด กลุ่มอาการขี้ขาวได้มาก ดังนั้นกุ้งอนุบาลก่อนย้าย ต้องเคลียร์เชื้อ 2 ตัวนี้ออกให้มากที่สุด โดยฟาร์มมีการทดลองพบว่า จุลินทรีย์ในกลุ่ม Lactibacillus บางชนิดสามารถลดจำนวนเชื้อทั้งสองตัวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการผสมเข้าไปในอาหารกุ้ง หรือ ไปหมักกับสับปะรด แล้วนำน้ำหมักสับปะรดมาคลุกอาหารให้กิน 

แนวทางแก้ไข บรรเทา อาการ

  • การป้องกันไม่ให้เกิด คือ สิ่งที่ควรทำที่สุด แก้ไขหลังจากเจอเส้นขี้ขาว ให้งดอาหารในวันที่เจอทันที ตีน้ำให้เต็มที่ ถ้าสามารถดูดเลนได้ให้ดูดออกให้หมด ลงจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรียได้
  • วันที่ 2 ให้อาหาร 50% จากที่เคยกิน ผสมน้ำหมักสับปะรด 50 ซีซี/อาหาร 1 กก. ลงจุลินทรีย์ที่ควบคุมเชื้อได้
  • วันที่ 3 เริ่มเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ละนิด ครั้งละ 5-10 ซม. ให้อาหารเพิ่มเล็กน้อย ขึ้นทีละ 10%
    ถ้าจำเป็นต้องตัดเชื้อ ต้องเพาะเชื้อว่าเจอเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเยอะหรือไม่ 
    ถ้าเจอ ให้ใช้โพแทสเซียมโมโนเพอร์ซัลเฟต 1 กก./ไร่ น้ำลึก 1.5 เมตร + คลอรีน 100 กรัม ประมาณ 6 ชม. แล้วลงจุลินทรีย์

การจัดการหลัง อาการขี้ขาวหาย
          หลังจากขี้ขาวหายกุ้งจะผอม เริ่มเบื่ออาหาร กินน้อยถอยลง กระตุ้นการกินโดยใช้น้ำนึ่งปลาทูน่าสกัดเข้มข้นผสมอาหาร ใช้ปลาทะเลต้ม 10 กก./เกลือทะเล 1 กก. น้ำพอท่วมต้มจนสุก นำปลาต้มมาเสริมอาหารและเคล้าในอาหารให้กุ้งกิน กุ้งจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

โรค EHP

  • ถ้าติดเชื้อ EHP อย่างเดียวไม่มีแบคที่เรียแทรกซ้อน 
  • พบเจอกุ้งจะโตช้า กินอาหารเยอะในช่วงแรก แต่ไซส์ไม่เดิน ระยะต่อมาจะกินอาหาร ทรงๆคงที่ ไซส์เดินช้ามาก ADG ลดลงอย่างรวดเร็ว
  • แนวทางแก้ไขต้องตรวจลูกกุ้งก่อนปล่อยว่าไม่พบ EHP จึงจะปล่อย
  • ถ้าปล่อยกุ้งแล้วตรวจพบ EHP เพียงเล็กน้อย ก็พอที่จะประคองการเลี้ยงได้จนจบครอป แต่อัตราการเจริญเติบโตอาจลดลงบ้างตามการจัดการของแต่ละฟาร์ม
  • ไม่มีวิธีที่จะกำจัด EHP ที่เจอในตัวกุ้ง
  • ไม่มียาปฏิชีวะนะ ไม่มีวิธีกำจัด ถ้าเข้าไปในตัวกุ้งแล้ว ไม่มีทางกำจัด แต่มีวิธีการบรรเทาอาการ
  • ใช้สูตรปลาต้มที่แนะนำผสมกับจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมเชื้อที่จะแทรกซ้อนได้ เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้นแต่ที่ละน้อย ควบคุมอาหารไม่ให้เหลือ ใช้อาหารที่มีโปรตีนจากปลาป่นสูง ใช้จุลินทรีย์ควบคุมคุณภาพน้ำและเชื้อในน้ำ

โรค EMS

  • ป้องกันได้โดยใช้ถูกกุ้งที่ปลอดเชื้อ แต่ถ้าเกิดการติดเชื้อให้เอากุ้งตายออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • แก้ไขโดย งดอาหาร 1 วัน ในวันที่เจอกุ้งร่วง ให้ตัดเชื้อในน้ำโดยใช้โพแทสเซียมโมโนเพอร์ซัลเฟต 1 กก./ไร่ แล้วลงจุลินทรีย์ที่ สามารถควบคุมเชื้อได้ หลังจากลงพแทสเซียมโมโนเพอร์ซัลเฟต ภายใน 6 ชม.
  • วันที่ 2 ให้อาหาร 20% จากที่เคยกิน ผสมน้ำหมักสับปะรด 50 ซีซี ต่ออาหาร 1 กก. + ใช้จุลินทรีย์ที่สามารถ
  • ต้านเชื้อได้ หรือ ลดเชื้อได้ ผสมอาหาร
  • วันที่ 3 ให้สังเกตอาการ หยุดตายแล้วให้ค่อยเพิ่มอาหารที่ละนิด แต่ไม่หยุดตายให้คงอาหารแบบเดิมไว้ก่อน
  • วันที่ 4 ถ้าสามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำใด้ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่ครั้งละน้อยๆ ไม่เกิน 10-15 ชม.

โรคไวรัส WSSV และ YHV

  • เน้นแนวทางในการป้องกัน ระบบไบโอซิเคียวในฟาร์มให้เข้ม เพราะ WSSV และ YHV ไม่สามารถรักษาได้ เจอให้เร็ว จับให้เร็ว หรือ ปิดบ่อให้เร็วที่สุด ป้องกันการแพร่กระจายระหว่างบ่อ คือ ถ้าตรวจพบว่ากุ้งติดไวรัส ให้ใช้ โพแทสเซียมโมโนเพอร์ซัลเฟต 2 กก./ไร่ ละลายน้ำผสม + คลอรีน 200 กรัม สาดลงบ่อ แล้วค่อยจับกุ้ง ถ้ากุ้งเล็กแนะนำให้ปิดบ่อ โดยใช้ยาฆ่าพาหะไตรคลอฟอน หรือ ไดคลอร์วอส 2 กิโลกรัม/ไร่ ปิดบ่อ แล้วขังน้ำไว้ 14 วันเป็นอย่างน้อย ห้ามมีกิจกรรมใดๆ ในบ่อนั้นเด็ดขาดหลังจากปิดบ่อ

โรคทอร่าซินโดรม TSV

  • กุ้งที่ติดเชื้อ TSV จะตายเพียงเล็กน้อย 5-15% ไม่เกินนี้ หลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว พบแผลที่ตัวกุ้งบริเวณเปลือกรอบๆ ตัว ไปจนถึงหาง แก้ไขโดยเสริมแร่ธาตุในน้ำ เช่น ดีเกลือ หรือ แมกนีเซียมซัลเฟต ตักตัวสีส้มที่ขอบบ่อออกให้มากที่สุด ผสมวิตามินซี 10 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม งดเปลี่ยนถ่ายน้ำในระยะแรก ที่พบว่าติดเชื้อ กุ้งจะมีอาการตัวสีส้ม ในช่วงนี้ถ้าเปลี่ยนถ่ายน้ำ กุ้งจะร่วงควรเสริมแร่ธาตุ ให้ครบทุกตัวเป็นสิ่งที่จำเป็น การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ทำให้กุ้งดีขึ้น แต่จะทำให้แย่ลง การผสมวิตามินซี และสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คือ วิธีที่ดีที่สุด
  • แผลของกุ้งจะเริ่มเกิด ประมาณ 7-10 วันหลังได้รับเชื้อแล้ว ถ้าเกิดแผลขึ้นแสดงว่า กุ้งสามารถต่อสู้และฟื้นตัวได้แล้ว การรักษาแผลในกุ้งหลังจากการฟื้นตัว ให้ผสมเกลือแกงในอาหาร 10 กรัม/อาหาร 1 กก. ความเค็มตั้งแต่ 10 ppt ขึ้นไป ถ้าความเค็มต่ำว่า 10 ppt 

ให้ผสมเกลือแกง 20 กรัม/อาหาร 1 กก. ผสมด้วยวิตามินซี และ ถ้ามีแอสต้าแซนทิน หรือ อาหารที่มีสูตรผสมของแอสต้าแซนทิน 
กุ้งจะฟื้นตัวเร็วขึ้น และแผลก็จะหายเร็วขึ้นด้วย ระยะนี้สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ตามปกติ

เหงือกสีชา หรือ เหงือกสีดำ

  • สาเหตุเกิดจากการดรอปของแพลงก์ตอน / เกิดจากกุ้งเข้าไปอยู่ในแนวเลนจำนวนมาก เนื่องจากสภาพฝนตก หรือ อุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วทำให้กุ้งต้องหาที่อบอุ่นอยู่ ตามลักษณะนิสัยของกุ้ง น้ำดรอปจากความไม่สมดุลของกลุ่มแพลงก์ตอนในบ่อ 
  • วิธีแก้ไขใส่ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 10 ลิตร/ไร่ ในตอนกลางคืน ถ้าเหงือกสีชา ทำติดต่อกัน 4-5 วัน จนสีของเหงือกดีขึ้น เปลี่ยนถ่ายน้ำทีละน้อย ถ้าเหงือกกุ้งเป็นสีดำ ต้องใส่ทั้งกลางวันและกลางคืน ให้ใส่ไฮโดรเจนเปอร์อกไซด์ 2 ช่วงเวลา คือ 13.00 และ 22.00 น. เหงือกกุ้งจะหายเร็วขึ้น และเปลี่ยนถ่ายน้ำเพิ่มขึ้นให้มากกว่าเดิม เอาเลนออก หรือ ไล่กุ้งจากแนวเลน โดยใช้ ปูนร้อน หว่านรอบๆ หลุมเลน ใช้อ๊อกผงหว่าน 5 กิโลกรัม/ไร่  จุลินทรีย์น้ำแดง และ ซีโอไลท์ 20 ลิตร/ไร่ หว่านรอบแนวเลน

สีน้ำเข้ม

  • สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาหารที่เหลือ และการตีน้ำที่มากเกินไปในช่วงเวลาที่แดดจัด 
  • แก้ไข โดยการจำกัดอาหารให้น้อยลง ในระยะแรกวิธีที่ดีที่สุดคือ เปลี่ยนถ่ายน้ำ 
  • การควบคุมสีน้ำ ถ้าสีน้ำเริ่มที่จะเข้มให้ใช้สีน้ำเทียมใส่ลงเพื่อพรางแสง ลดการสัมผัสแสงแดดกับแพลงก์ตอน 
  • ลดการตีน้ำในช่วงที่แดดจัด ควบคุมอาหาร ให้จำกัดเพดานฟีด
  • หลังจากลงสีน้ำเทียม ลงกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทราย เพื่อปรับสมดุลระหว่างจุลินทรีย์และแพลงก์ตอนในบ่อ ปกติจะใช้ประมาณ 5% ของอาหาร เช่น อาหาร 100 กิโลกรัม/วัน ให้ลงกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายที่ 5 กิโลกรัม/วัน
  • ลงจุลินทรีย์เฉพาะกลุ่มที่สามารถกำจัดสารอินทรีย์ หรือ กินเอมโมเนียเป็นอาหาร

เหงือกสีชา หรือ เหงือกสีดำ

  • เกิดจากน้ำเข้มมาก่อนแล้ว เพราะเกิดจากการเจริญเติบโตของกลุ่มแพลงก์ตอนที่มากเกินไปจนเกินกว่าสารอาหารที่มีในบ่อ
  • สารอาหารหมดหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตก pH แกว่งในรอบวัน ทำให้แพลงก์ตอนตาย น้ำก็จะดรอป
  • วิธีแก้ไขง่ายที่สุด ถ้าน้ำเกิดดรอปแล้ว คือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำ ถ้าไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่าย ให้ใช้สีน้ำเทียมก่อน
  • ถ้าน้ำในบ่อติดกันมีสีน้ำที่สวย กลุ่มแพลงก์ตอนที่ดี ก็สามารถดูดมาค่อยๆ เติมในบ่อที่น้ำดรอปได้ จะทำให้สีน้ำเกิดได้เร็วขึ้น

กุ้งเป็นแผล

  • แผลขีดข่วนจากกรีกุ้ง สาเหตุเพราะปล่อยกุ้งที่หนาแน่นเกินไป การรักษาแผลขีดข่วน ให้พาเชียลกุ้งออก แผลก็จะค่อยๆ หายไป ก่อนพาเชียลใช้เกลือแกงผสมในอาหาร 10 กรัม/อาหาร 1 กก. พอกุ้งลอกคราบแล้วให้ใส่แร่ธาตุ แมกนีเซียมซัลเฟต และ โพตัสเชียมคลอไรท์ เปลือกกุ้งจะแข็งเร็วขึ้น แล้วพาเชียลกุ้งออกเพื่อลดความหนาแน่น
  • แผลจากความเค็มต่ำ ไนไตร์ทสูง มักเกิดขึ้นหลังในไตร์ทสูงเกิน 3 ppm เป็นเวลานานหลายวัน เปลือกกุ้งจะบาง เบื่ออาหาร ถ้าปล่อยไปนานๆ กุ้งจะตัวหลวม กรอบแกรบ วิธีบรรเทาเบื้องต้น ให้ไช้วิตามินซี ผสมอาหาร 10 กรัม/อาหาร 1 กก. ผสมเกลือแกงในอาหาร 20 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม (ถ้าความเค็มต่ำ) ใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่จำเพาะเจาะจง ใช้ในไตร์ทเป็นอาหารจะดีมาก เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยทำเบื้องต้นประมาณ 5 วัน แผลก็จะน้อยลงและหายไป

แนวทางการเตรียมบ่อและการจัดการฟาร์ม

  • หลังจากจับกุ้งแล้วให้ฉีดเลน ตากให้แห้งอย่างน้อย 7 วัน เช็คพื้นว่าฉีดเลนสะอาดหรือไม่ ถ้าไม่สะอาดอาจจะต้องฉีดอีกรอบ ให้หว่านปูนร้อน ความเค็มตั้งแต่ 10 ppm ให้ใช้ปูนแคลเซียมอ็อกไซด์ เพราะความเค็มสูง ค่าแมกนีเซียมจะมีปริมาณสูงอยู่แล้ว ต้องเติมแคลเซียมและจะได้อัลคาไลน์ตามมาด้วย ความเค็มต่ำกว่า 10 ppm ให้ใช้ปูนแมกนีเซียมอ๊อกไซด์ เพราะแมกนีเซียมจะมีปริมาณน้อย
  • กรณีบ่อ PE แบบบาง ให้เปิด PE แล้วหว่านด้วยปูนขาวใต้ PE แล้วปิด PE จากนั้น เติมน้ำผสมด่างทับทิม 15 ppm พอท่วมพื้นบ่อ ทิ้งไว้ 24 ชม. เพื่อต้องการกำจัด EHP ที่อยู่ในรูปสปอร์ เมื่อครบ 24 ชม. ก็เติมน้ำเข้าบ่อในปริมาณที่ต้องการเลี้ยง กรองน้ำด้วยมุ้งฟ้าและใยฟู
  • กรณีบ่อดิน หลังจากฉีดเลน ตากบ่อให้แห้ง อย่างน้อย 7 วัน ลงปูนร้อน 300 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากหว่านปูนเสร็จให้เอาน้ำเข้าบ่อทันที (ใช้ปูนดูที่ความเค็มเป็นหลัก)

           วันที่ 1   ลงยาฆ่าพาหะทันที หลังจากน้ำได้ระดับ ที่ 3 กก./ไร่ ที่ระดับความลึก 1.5 เมตร
           วันที่ 3   ลงคอปเปอร์ซัลเฟต 8 กิโลกรัม/ไร่
           วันที่ 6   ลงกากชา 20 กิโลกรัม/ไร่ (ถ้าต้องการให้กากชาออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น ให้หมักกับเกลือ น้ำจืด 400 ลิตร เกลือ 40 กก.)
           วันที่ 10 ลงกากน้ำตาลที่หมักกับจุลินทรีย์ 50 กิโลกรัม/ไร่ หรือน้ำตาลทราย 20 กิโลกรัม/ไร่ (เคล็ดลับลงโพแทสเซี่ยมโมโนเปอร์ซัลเฟต2 กก./ไร่ เพื่อให้ค่า pH นิ่ง)
           วันที่ 12 ลงจุลินทรีย์น้ำแดง 20 ลิตร/ไร่ ผสมปูนซีโอไลท์ กับ จุลินทรีย์น้ำแดงในอัตราส่วนปูน 10 กิโลกรัม/จุลินทรีย์น้ำแดง 20 ลิตร สาดให้ทั่วบ่อเน้นบริเวณหลุมเลน และแนวเลนบริเวณ Auto Feed
           วันที่ 14 ลงจุลินทรีย์ผสมกากน้ำตาล 20 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อปรับ pH ให้เหมาะสม (ผสมกากน้ำตาลกับจุลินทรีย์ในถังน็อคหมักไว้ 24 ชม. ให้อากาศเบาๆ)
           วันที่ 15 ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ปรับแร่ธาตุให้ได้ตามเกณฑ์ แล้วนำกุ้งที่จะปล่อยมาลองน้ำ

การลงจุลินทรีย์หมักกับกากน้ำตาล หรือ น้ำตาลทราย

  • เพราะว่าเราเตรียมบ่อด้วยปูนร้อนที่ทำให้น้ำ pH สูงเกิน 9 จึงจำเป็นต้องดึง pH ลงมาให้เหมาะสมก่อนการปล่อยกุ้ง กากน้ำตาล หรือ น้ำตาลทรายจึงเป็นตัวเหมาะสมที่จะใช้ เพราะว่าทั้งสองชนิดนี้คืออาหารของจุสินทรีย์เมื่อจุลินทรีย์ขยายตัวจะสร้างกรดคาร์บอนนิคทำให้ pH น้ำลดลง และยังไปละลายแคลเซียมในปูนที่เราใช้เตรียมบ่อ ส่งผลให้เกิด Alkaline จากปฏิกริยาขั้นต้น
  • การใช้จุลินทรีย์หลาย ๆ กลุ่ม เช่น กลุ่มบาซิสัสย่อยโปรตีนจากถั่วเหลือง แป้ง ไขมัน เปลี่ยนโปรตีนที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง ทำให้กุ้งดูดซึมโปรตีนได้ง่ายขึ้นกลุ่มแลตโตบาซิสัสไม่สามารถย่อยโปรตีนจากถั่วเหลืองได้ แต่สามารถผลิตกรดอินทรีย์ (organic acid) กรดอินทรีย์นี้สามารถยับยั้งเชื้อ V. harveyi  V.parahaemolyticus ได้
อ่านต่อ





2024-02-26

การยกระดับฟาร์มสุกรด้วยระบบ GFM (Good farming management)

Good farming management (GFM) คืออะไร ???
     การจัดการฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เป็นการยกระดับและผลักดันให้ฟาร์มปศุสัตว์การเลี้ยงสุกรรายย่อย จำนวนสุกร 1-50 ตัว และรายเล็ก จำนวนสุกร 51-500 ตัว ให้มีระบบการป้องกันโรคและการจัดการที่ดี โดยมีพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ตามมาตรา 7 แห่งพรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยระบบ GFM ช่วยลดความสูญเสียของเกษตรกรจากปัญหาโรคระบาด ผลผลิตดี และมีคุณภาพ

ทำ GFM แล้วได้อะไร ???

  • ระบบการป้องกันโรค: ช่วยลดปัญหาโรคระบาดและลดปัญหาการดื้อยา ด้วยระบบ Biosecurity และการจัดการสุขภาพสัตว์
  • การตรวจสอบย้อนกลับ: เพื่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยทางอาหาร โดยวิธีการจัดทำข้อมูลทะเบียนฟาร์ม ข้อมูลสัตว์ ข้อมูลสุขภาพสัตว์ ข้อมูลบุคคลและยานพาหนะเข้า-ออก
  • การเพิ่มผลผลิต: ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มีความมั่นคงและยั่งยืน
  • การจ่ายค่าชดเชย: ในกรณีที่ฟาร์มมีการซื้อสุกรเขาฟาร์มและพบการติดเชื้อ หากรักษาไม่หายต้องมีการควบคุมโรค หรือต้องมีการทำลายสุกรทิ้ง ฟาร์มที่ได้รับ GFM จะสามารถได้รับการจ่ายค่าชดเชย

หลักการจัดการฟาร์มตามระบบ GFM

>> พื้นที่เลี้ยงและโครงสร้าง

  • ฟาร์มตั้งอยู่ห่างจากโรงฆ่าสัตว์ หรือตลาดนัดสัตว์ อย่างน้อย 500 เมตร
  • คอกสุกรต้องมีเนื้อที่เพียงพอต่อจำนวนสุกร เพื่อลดความแออัดและพื้นที่เลี้ยงควรแยกจากที่พักอาศัย
  • มีรั้ว หรือการจัดการที่สามารถป้องกันคนและยานพาหนะเข้าพื้นที่เลี้ยงสุกร
  • มีป้ายเตือน “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต” ที่ประตูทางเข้าพื้นที่เลี้ยงสุกร
  • ก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสุกรต้องมีการอาบน้ำ เปลี่ยนชุดและรองเท้าก่อนเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกร
  • มีบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสุกร
  • มีพื้นที่สำหรับกักสุกรที่รับมาใหม่ ก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงเดิมและมีพื้นที่สำหรับแยกสุกรป่วยออกจากฝูง
  • มีพื้นที่สำหรับขายสุกรบริเวณนอกพื้นที่เลี้ยงสุกร

>> การจัดการด้านสุขภาพ

  • สุกรที่นำมาเลี้ยงใหม่ต้องทราบแหล่งที่มา หรือมีการกักโรคก่อนนำเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 14 วัน
  • มีการถ่ายพยาธิ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย อหิวาห์สุกร และโรคอื่นตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด
  • ไม่ใช้พ่อพันธุ์ร่วมกับฟาร์มอื่นๆ ในกรณีที่มีการใช้การผสมเทียมต้องมีการนำเชื้อมาจากแหล่งที่มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์
  • เมื่อสุกรป่วย ตายด้วยโรคระบาด สงสัยว่าเป็นโรค หรือไม่ทราบสาเหตุการตายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที ตามมาตราการป้องกันโรค ASF ห้ามมีการขายซาก และชำแหละซากเป็นอาหาร จึงต้องมีการจัดการซากสุกรอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรคและโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น
    •  การเผา : ต้องเผาซากจนหมดกลายเป็นขี้เถ้า และทำการแช่ขี้เถ้าด้วยโซดาไฟ 1 คืนก่อนทิ้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค
    •  การทิ้งซากสุกร : ควรมีวัสดุปูรอง และมีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม 
    • การฝังกลบซากสุกร : พื้นที่ใช้ในการฝังกลบต้องเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไปถึง ต้องฝังกลบความลึกที่กำหนด คือ เหนือระดับน้ำทะเล 1 เมตร ซากทับซ้อนกันสูงไม่เกิน 2.5 เมตร ฝังกลบด้วยดินสูง 50 ซม. และกลบด้วยดินด้านบนอีก 50 ซม.  ซึ่งต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและโรยปูนขาว เพื่อเป็นการลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

>> การจัดการอาหาร น้ำและยาสัตว์

  • มีการจัดเก็บอาหารที่สะอาด แห้ง ไม่อับชื้น ต้องไม่มีรา หรือมีวัตถุเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่ปนเปื้อน ในอาหาร สามารถการเสื่อมสภาพของอาหารสัตว์ และป้องกันสัตว์พาหะนำโรคได้
  • มีการจัดเก็บ รักษาคุณภาพของวัคซีนและยารักษาโรคอย่างเหมาะสม
  • มีการใช้ยา วิตามิน หรือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสำหรับสุกรที่มีทะเบียนอย่างถูกต้อง
  • มีการใช้ยารักษาโรคภายใต้คำแนะนำของสัตว์แพทย์

>> การจัดข้อมูล

  • มีการจดบันทึกข้อมูลการดูแลสุขภาพสัตว์
  • มีการบันทึกข้อมูลการผลิต และผลผลิต
  • มีการจดบันทึกข้อมูลบุคคล และยาพาหนะเข้าออก
อ่านต่อ





2024-02-26

“18 Week Wall” กำแพงการเจริญเติบโตของสุกร

        การผลิตสุกรในปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ตลอดจนการปรับระบบการจัดการใหม่เพื่อการกำจัดและควบคุมโรคต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการพัฒนาปรับปรุง แต่เหล่าผู้ผลิตสุกรและสัตวแพทย์ยังต้องพบเจอกับปัญหาจากโรคและประสิทธิภาพที่แย่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาจากโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตและความยุ่งยากสำหรับผู้ผลิตและผู้ปฏิบัติงาน แม้จะมีเทคโนโลยีการจัดการใหม่ๆ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรค โฮสต์ และสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นแล้วก็ตาม

        ปัญหาจากโรคทางระบบหายใจที่ยังไม่มีใครสามารถระบุสาเหตุของมันเองได้ชัดเจน กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจึงเรียกแทนภาวะนี้ว่า Porcine Respiratory Disease Complex หรือ PRDC (ดังแสดงในภาพที่ 1) ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งไวรัส และแบคทีเรีย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและการจัดการ ทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจ หลังย้ายเข้ามาในส่วนเลี้ยงสุกรขุน ซึ่งมักเรียกแทนว่าเป็น “18 to 20 week wall” และทำให้ประสิทธิภาพลดลงอย่างชัดเจน เมื่อมีการระบาดของ PRDC เกิดขึ้น จะพบว่าสุกรโตช้าและไม่สม่ำเสมอ อัตราการตายและการคัดทิ้งเพิ่มสูงขึ้น ประสิทธิภาพการให้อาหารลดลงจำนวนวันเลี้ยงเพิ่มขึ้น และต้นทุนในการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีรายงานว่า PRDC สามารถทำให้อัตราการป่วยถึง 70% โดยอัตราการตายระหว่าง 4-6% 

        PRDC มักเกิดจากการทำงานร่วมกันของเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรีย โดยอาการจะรุนแรงขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมและการจัดการไม่เหมาะสม โดยมักเกี่ยวข้องกับไวรัสจำพวก Porcine reproductive and respiratory syndrome (PRRS), Porcine circovirus type 2 (PCV2), Swine influenza (SIV), Pseudorabies virus (PRV, AD), และ Porcine respiratory corona virus (PRCV) โดยไวรัสเหล่านี้จะร่วมกับแบคทีเรียหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งชนิด ซึ่งแบคทีเรียที่เกี่ยวกับ PRDC จะแบ่งเป็นเชื้อปฐมภูมิ (Primary bacteria) และเชื้อทุติยภูมิ (Secondary bacteria) ดังแสดงในตารางที่ 1

อ่านต่อ





2024-04-09

ใช้ยูเรียอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง

          เกษตรกรหลายท่านยังมีข้อสงสัยเกี่ยวการใช้ยูเรียในสัตว์เคี้ยวเอื้อง สรุปแล้วควรใช้หรือไม่? ถ้าใช้แล้วควรใช้ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งจากการที่ได้สอบถามกับเกษตรกร มีเกษตรกรหลายรายยังไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยต่อการใช้ยูเรียในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงทำให้สัตว์มีอาการยูเรียเป็นพิษ อย่างไรก็ตามหากใช้อย่างระมัดระวัง ใช้อย่างถูกต้องถูกวิธี และใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนให้กับจุลินทรีย์ในสัตว์เคี้ยวเอื้องได้

 ทำไมต้องใช้ยูเรียในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง

          โปรตีนแท้ เช่น กากถั่งเหลือง โดยปกติแล้วเมื่อเข้าสู่กระเพาะรูเมน ปริมาณ 60% จะถูกจุลินทรีย์ในรูเมนย่อยสลายเป็นแอมโมเนีย นำไปสร้างเป็น จุลินทรีย์โปรตีน แล้วจึงผ่านสู่กระเพาะแท้และลำไส้เล็กเพื่อย่อยและดูดซึม ส่วนอีก 40% โปรตีนแท้จะไม่ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์แต่จะผ่านไปยังกระเพาะแท้และลำไส้เล็กไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง

          ยูเรีย คือ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ที่ใช้เป็นแหล่งไนโตรเจนให้กับพืช มีไนโตรเจน 46% เมื่อคิดเป็น crude protein จะมีค่าเท่ากับ 265 % ในอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งไนโตรเจนร่วมกับโปรตีนแท้ได้ จัดเป็นแหล่งไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีน (Non-Protein Nitrogen , NPN) เมื่อยูเรียเข้าสู่กระเพาะรูเมนจะถูกจุลินทรีย์เปลี่ยนเป็นแอมโมเนียไนโตรเจน (NH3-N) 100% เพื่อใช้สร้างเป็นจุลินทรีย์โปรตีน (Microbial protein) ดังนั้น การใส่ยูเรียในอาหารจึงใส่เพื่อให้จุลินทรีย์ได้นำไปใช้ประโยชน์ ไม่ได้ใส่เพื่อให้สัตว์เคี้ยวเอื้องนำไปใช้ได้โดยตรง (ดังแสดงในภาพที่ 1)

ข้อจำกัด/ข้อแนะนำในการใช้ยูเรีย

  1. ระดับการใช้ที่แนะนำในสูตรอาหารข้นไม่เกิน 2% ในสูตรอาหาร หรือไม่เกิน 1% ของวัตถุแห้งในอาหารที่สัตว์ได้รับทั้งหมดต่อวัน (สุธิดา และคณะ 2548)
  2. ต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย เช่น กากน้ำตาล มันเส้น เป็นต้น ในระดับที่เพียงพอให้จุลินทรีย์นำไปใช้เปลี่ยนแอมโมเนียเป็น microbial protein
  3. ผสมยูเรียให้กระจายตัวเข้ากับอาหารให้มากที่สุด ยูเรียต้องไม่จับตัวเป็นก้อน
  4. ห้ามใช้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องที่อายุน้อย (หย่านม-5 เดือน) เนื่องจากกระเพาะรูเมนยังไม่เจริญเต็มที่ ปกติกระเพาะรูเมนของโคจะเจริญเต็มที่เมื่อโคอายุประมาณ 4-5 เดือน
  5. หากอาหารหยาบและอาหารข้นมีการเสริมยูเรียแนะนำว่าต้องคำนวณปริมาณของยูเรียที่โคได้รับให้ไม่เกิน 1% ในอาหารสัตว์ที่โคได้รับทั้งหมดต่อวัน

ผลกระทบจากการใช้ยูเรียเกินข้อจำกัด/ข้อแนะนำ

          อาการเป็นพิษแบบฉับพลัน จะเกิดอาการได้ชัดเจนเมื่อโคได้รับปริมาณยูเรีย 0.1% ของน้ำหนัก หรือประมาณ 0.5 kg เมื่อโคน้ำหนัก 500 kg (รัมภา และคณะ 2549) อาการที่เห็นกันทั่วไป โคจะน้ำลายฟูมปาก หายใจลำบาก มีอาการทางประสาท กล้ามเนื้อชักกระตุก อย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด (Fraser,1963, Dinningetal.,1984) วิธีที่ช่วยลดอาการเป็นพิษสามารถทำได้ดังนี้ คือ ใช้น้ำส้มสายชู : น้ำเย็น หรือ ใช้กรด Acetic/Formic : น้ำเย็น ในอัตราส่วน 1:1 ป้อนเข้าปากโคให้เร็วที่สุด (ดังแสดงในภาพที่ 2)

          ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ มีงานวิจัยศึกษาว่าเมื่อสัตว์ได้รับอาหารข้นระยะเวลาผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมง ปริมาณ BUN ต้องไม่เกิน 19 mg/dl ถึงจะไม่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์  หากเกินกว่านั้นจะส่งผลให้โคเป็นสัดเงียบ อัตราการผสมติดและอัตราการตั้งท้องลดลง (Elrod and Butler, 1993; Ferguson et al., 1993; Butler, 1998) ซึ่งปกติหากใช้ยูเรียในอาหารข้น 2% ค่า BUN ในโคนมจะมาค่าเท่ากับ 8.3 mg/dl ทั้งนี้ BUN จะหลงเหลือเข้าสู่กระแสเลือดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณ NSC และความสามารถของจุลินทรีย์ในการเปลี่ยน NH3-N ไปเป็น Microbial protein (ดังแสดงในภาพที่ 2)

อ่านต่อ