Dark Mode :

(+66) 34 886148 156
Text Size :
TH EN

2024-01-04

วิธีการผสมเทียมแม่สุกร (Artificial Insemination in Swine)

        ในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มักจะใช้วิธีการผสมเทียมแม่สุกรมากกว่าการผสมแบบธรรมชาติ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก และรวดเร็ว ช่วยทำให้ยีนดีจากพ่อพันธุ์แพร่กระจายได้เร็ว น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่ดี 1 ตัวสามารถผสมแม่สุกรได้ 8-10 ตัว ช่วยแก้ปัญหาในด้านการผสมพันธุ์ เช่น ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ (Low fertility) ความไม่อยากผสมพันธุ์ (Low libido) หรือปัญหาเรื่องขาเสีย ขาอ่อน ขนาดของพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่วิธีในการผสมเทียมต้องมีข้อระมัดระวัง คือ การผสมเทียมหากมีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือขาดการรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ และที่สำคัญอาจจะส่งผลทำให้อัตราการผสมติดลดลงอีกด้วย

การผสมสุกรแม่พันธุ์   สามารถผสมเทียมสุกรแม่พันธุ์ มีหลักการในการผสม ดังนี้

  • แม่สุกรสาว ควรผสมทันทีที่พบการเป็นสัด และทำการผสมซ้ำหลังจากผสมรอบแรก 12 ชั่วโมง 
  • แม่สุกรนาง ควรผสมครั้งแรกหลักจากตรวจพบอาการเป็นสัด (ยืนนิ่ง) แล้ว 12 ชั่วโมง จากนั้นจึงผสมซ้ำหลังจากผสมรอบแรก 12 ชั่วโมง 

การตรวจการเป็นสัด 

        ใช้พ่อพันธุ์ที่มีความคึกดี ตรวจ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเมื่อใช้น้ำหนักกดทับบริเวณหลัง และสะโพกสุกรจะแสดงอาการยืนนิ่ง แม่สุกรที่เป็นสัดจะแสดงอาการกระวนกระวายไม่นอน, กินอาหารลดลง, พยายามปีนขี่สุกรตัวข้างเคียง, อวัยวะเพศบวมแดงมีน้ำเมือกหล่อลื่นช่องคลอด (ดังแสดงในภาพที่ 1)

ขั้นตอนการผสมเทียม

  1. การผสมเทียมเริ่มโดยการทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอดด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ (ดังแสดงในภาพที่ 2)
  2. สอดท่อผสมเทียมเข้าไปเอียงทำมุม 45 องศากับแนวนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อผสมเทียมเข้าไปในท่อปัสสาวะ ซึ่งการสอดท่อผสมเทียมจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา เพื่อให้เกลี่ยวของท่อผสมเทียมเข้าไปล็อคอยู่ที่บริเวณคอมดลูก (ดังแสดงในภาพที่ 3)
  3. ลองดึงออกเบาๆ จะรู้สึกว่าติดหนึบ ๆ แสดงว่าท่อผสมเทียมล็อคที่บริเวณคอมดลูกแล้ว หลังจากนั้นต่อหลอดน้ำเชื้อเข้ากับปลายท่อผสมเทียม ระยะเวลาที่ปล่อยน้ำเชื้อให้หมดใช้ระยะเวลา 3-5 นาที (ดังแสดงในภาพที่ 4)
  4. ปล่อยให้น้ำเชื้อถูกดูดเข้าร่วมกับการกระตุ้นแม่สุกรในขณะผสมเทียม เช่น ใช้พ่อสุกรมายืนอยู่ด้านหน้ากรงของแม่สุกร เพื่อให้แม่สุกรได้กลิ่น ได้เห็น และได้ยินเสียงของพ่อสุกร จะทำให้แม่สุกรยืนนิ่ง และหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซิน (Oxytocin) ออกมาเพื่อทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัวดูดเอาน้ำเชื้อเข้าไปยังมดลูก
  5. อาจจะมีการใช้กระสอบบรรจุทรายหนัก 10-15 กก. วางทับหลังแม่สุกรขณะผสม หรือให้คนขึ้นนั่งขณะผสม และควรใช้มือลูบที่บริเวณสีข้าง หรือราวนมไปมาช้า ๆ เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก หลังจากน้ำเชื้อหมดหลอดให้คาท่อผสมเทียมไว้ 10-15 นาที แล้วค่อยดึงออก
อ่านต่อ





2024-01-20

การจัดการความเครียดที่เกิดจากความร้อนในแม่สุกร

          ปัญหาสภาวะอากาศร้อนส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ เป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น ระยะการหย่านม-ผสมนานขึ้น อัตราการคลอดลดลง และขนาดครอกลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักมีผลมาจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน (Heat stress) โดยความร้อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

          ความร้อนจากภายนอกร่างกาย  คือ ความร้อนจากสภาพอากาศ หรือความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกแพร่เข้ามาภายในโรงเรือน ทำให้แพร่รังสีความร้อนเข้าสะสมในตัวหมู
          ความร้อนจากภายในร่างกาย  คือ ความร้อนจากการเผาผลาญสารอาหารในกระบวนการเมแทบอลิซึม
ภายในร่างกาย เพื่อให้ได้เป็นพลังงานในแม่สุกร ก่อให้เกิดความร้อนภายในร่างกายได้ และหากแม่สุกรกินอาหารมากจนเกินไปอาจจะก่อให้เกิดความร้อนสูงภายในร่างกาย และส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้ นอกจากนี้การเผาผลาญสารอาหารในลูกสุกรภายในท้องยิ่งแม่สุกรใกล้คลอดลูกสุกรก็จะต้องการสารอาหารมากขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ความร้อนจากการเมทาบอลิซึมสูงขึ้นตามไปด้วย โดยความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวลูกสุกรจะถูกถ่ายทอดมายังตัวแม่สุกร เพื่อขับออก ทำให้แม่สุกรมีอาการหอบ 

         ซึ่งความร้อนที่เกิดจากภายนอก และภายในร่างกายของแม่สุกร เมื่อมีการสะสมมากๆในร่างกาย จะส่งผล
ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ทำให้แม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ส่งผลเสียต่อ
การผลผลิตในแม่สุกรได้ ดังนี้

แม่สุกรช่วงก่อนผสม

  • แม่สุกรไม่เป็นสัดหลังหย่านม มีอาการเป็นสัดแต่ไม่แสดงอาการ ระยะการเป็นสัดสั้นลง เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากความร้อน
  • ระยะหย่านม-ผสมนานขึ้น เนื่องจากการทำงานของรังไข่ลดลง
  • วงรอบการเป็นสัดนานขึ้น อัตราการตกไข่ลดลง เป็นผลมาจากการกินอาหารของแม่สุกรลดลง

แม่สุกรช่วงหลังจากผสม

  • ระยะแรกของการอุ้มท้อง หากแม่สุกรมีความเครียดในช่วง 1-2 วัน จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการผสมลดลง ทำให้ตัวอ่อนตายหลังผสมเพิ่มขึ้น
  • ระยะผสม-อุ้มท้อง 8 วัน และระยะฝังตัวของตัวอ่อน (9-16 วัน) หากแม่สุกรเกิดความเครียดจากความร้อนจะส่งผลทำให้เกิดการแท้ง แม่สุกรกลับสัดหลังจากผสม และมีการแสดงอาการเป็นสัดเงียบเพิ่มขึ้น (Silent heat)
  • ช่วงระยะกลางของการอุ้มท้อง (หลังจากผสม 3 สัปดาห์ - 3เดือน) แม่สุกรจะมีความทนทานต่อความเครียด แต่ความร้อนที่สูงอาจจะยังส่งผลทำให้เกิดอาการแท้งได้เช่นกัน
  • ระยะท้ายของการอุ้มท้อง (2 สัปดาห์ก่อนคลอด) ลูกสุกรมีโอกาสตายก่อนคลอดได้ เนื่องจากสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ลูกสุกรมีน้ำหนักแรกคลอด และน้ำหนักคลอดลดลง และความร้อนยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่สุกรลดลงอีกด้วย 
  • ระยะเลี้ยงลูก แม่สุกรที่ได้รับความเครียดจากความร้อนอาจต้องมีการใช้ระยะเวลาในการคลอดนาน มีผลทำให้อัตราการตายหลังคลอดสูงขึ้น แม่สุกรผลิตน้ำนมได้ลดลง และยังส่งผลทำให้การกินอาหารของแม่สุกรลดลง
อ่านต่อ





2028-01-17

น้ำ และการจัดการน้ำในฟาร์มสุกร ที่ไม่ควรมองข้าม!!

น้ำ เป็นส่วนประกอบของร่างกายสุกรสูงถึง 75% ของน้ำหนักตัว ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ถูกลืม เพราะไม่ใช่สารอาหารที่ถูกจัดลำดับความสำคัญ เช่น โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, แร่ธาตุ, และวิตามิน เป็นต้น ในการพิจารณาเมื่อเกิดปัญหาในการผลิต อย่างไรก็ตามหากสุกรได้รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ หรือ คุณภาพน้ำที่ไม่ดีให้แก่สัตว์ อาจเป็นสัญญาณแรกของปัญหาสุขภาพ ดังนั้นการจัดการน้ำที่เพียงพอ รวมถึงคุณภาพของน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ และผลผลิตของสุกรระบบการเลี้ยงสุกร สัตว์จะต้องสามารถได้รับน้ำที่สะอาด และปลอดภัยตลอดเวลาจากนิปเปิ้ล, ถ้วยน้ำดื่ม หรือรางน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งคุณภาพน้ำที่ส่งผลต่อการผลิตสุกร ได้แก่ แร่ธาตุ ซัลเฟต ไนเตรต และไนไตรต์ที่มีความเข้มข้นสูง การปนเปื้อนของแบคทีเรีย การเจริญเติบโตของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และการปนเปื้อนทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณภาพน้ำยังขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา และสุขอนามัยที่ไม่ดีเมื่อจัดเก็บอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ ซึ่งคุณภาพของน้ำที่ใช้เลี้ยงสุกรภายในฟาร์ม มีค่ามาตรฐานดังตารางที่ 1, 2 และ3

วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำภายในฟาร์มเพื่อตรวจคุณภาพ

จุดเก็บตัวอย่างน้ำ ได้แก่ แหล่งน้ำใต้ดินก่อนเข้าถังหรือบ่อพัก, บ่อหรือถังพักน้ำ, และน้ำที่ออกจากอุปกรณ์ให้น้ำสุกร (นิปเปิ้ล) และก่อนเก็บตัวอย่างน้ำต้องเปิดน้ำไหลทิ้ง 2-3 นาที

1. เตรียมภาชนะในการเก็บน้ำตัวอย่าง: ใช้ขวดที่มีฝาปิด, สะอาด, และทำมาจากโพลีเอทธิลีน หรือโพลีโพรพิลีน)

-ตรวจจุลชีพในน้ำ: ขวดแก้วขนาดความจุ 500 มิลลิลิตร
-ตรวจลักษณะทางกายภาพ-เคมีในน้ำ: ขวดขนาดความจุ 2 ลิตร
-ตรวจลักษณะทางโลหะหนักในน้ำ: ขวดขนาดความจุ 1 ลิตร

2. การเก็บตัวอย่างน้ำ:

-ตรวจจุลชีพในน้ำ: ระหว่างการเก็บตัวอย่างน้ำควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสปากขวด บรรจุตัวอย่างน้ำ 4 ใน 5 ส่วนของภาชนะ จากนั้นปิดฝาขวดให้สนิทแล้วพันด้วยเทป จากนั้นบรรจุใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดให้แน่น
-ตรวจลักษณะทางกายภาพ-เคมีในน้ำ: ล้างภาชนะด้วยน้ำที่จะเก็บ 2–3 ครั้ง ก่อนจะเก็บตัวอย่าง เก็บน้ำจนเกือบเต็มขวด เหลือที่ว่างประมาณ 1 นิ้ว และปิดฝาให้สนิท
-ตรวจลักษณะทางโลหะหนักในน้ำ: ล้างภาชนะด้วยน้ำที่จะเก็บ 2–3 ครั้ง ก่อนจะเก็บตัวอย่าง เก็บน้ำจนเกือบเต็มขวด เหลือที่ว่างประมาณ 1 นิ้ว และปิดฝาให้สนิท

3. เขียนฉลากปิดภาชนะเก็บตัวอย่างน้ำ: ควรระบุชื่อฟาร์ม, ที่อยู่ฟาร์ม, ประเภทแหล่งน้ำ (น้ำบาดาล, น้ำผิวดิน หรือ น้ำประปา), จุดเก็บตัวอย่าง (น้ำก่อนเข้าถังหรือบ่อพัก, บ่อหรือถังพักน้ำ, และน้ำที่ออกจากอุปกรณ์ให้น้ำสุกร ), วันที่ และเวลาที่เก็บตัวอย่าง, และชื่อผู้เก็บตัวอย่าง

4. การเก็บรักษาสภาพตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจ

-ตรวจจุลชีพในน้ำ และตรวจลักษณะทางกายภาพ-เคมีในน้ำ: แช่เย็นที่ 4 – 10  ™C และส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
-ตรวจลักษณะทางโลหะหนักในน้ำ: เก็บที่อุณหภูมิห้อง และส่งตรวจภายใน 48 ชั่วโมง

ก่อนนำส่งห้องปฏิบัติการต้องผนึกหีบห่อตัวอย่างให้แน่นหนา ใส่ในกล่องส่งตัวอย่างที่มีการควบคุมอุณหภูมิ (กล่องโฟมใส่น้ำแข็ง) และป้องกันตัวอย่างจากแสงแดด ควรส่งตัวอย่างน้ำถึงห้องปฏิบัติการโดยเร็วภายในเวลาไม่เกิน 8 ชั่งโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ลักษณะอาการสุกรขาดน้ำ

FI ลดลง และแคระแกร็น
สุกรมีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย
สุกรมีอาการเซื่องซึม เดินเซ
อุจจาระ และปัสสาวะมีสีเข้ม

  สุกรต้องรักษาระดับของน้ำภายในร่างกายโดยการบริโภคน้ำที่ได้รับจากอาหาร หรือการดื่มน้ำ ซึ่งสุกรจะกินน้ำลดลงเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงกว่า 20  ™C และมีการบริโภคมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิของสภาพแวดล้อมในโรงเรือน หรือภายนอกโรงเรือนสูง ดังนั้นในสภาวะอุณหภูมิปกติสุกรจะมีความต้องการน้ำในการบริโภคในแต่ละวัน ดังตารางที่ 4 อย่างไรก็ตามการติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำต้องคำนึงถึงจำนวนของอุปกรณ์ให้น้ำ อัตราการไหลของน้ำ แรงดันน้ำ รวมทั้งความสูงในการติดตั้งที่เหมาะสม ดังตารางที่ 5

อ่านต่อ